นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า จากรายงานการส่งออกข้าวไทยช่วง 11 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) ข้อมูลจากกรมศุลกากร ไทยมีปริมาณส่งออกข้าว 7,945,767 ล้านตัน มูลค่า159,550.2 ล้านบาท (4,612.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 14.7% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 28.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 6,924,919ตัน มูลค่า123,765.2ล้านบาท (3,560.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
โดยการส่งออกข้าวในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีปริมาณ 1,007,417 ตัน มูลค่า 23,010 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้น 19.9% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 23.3% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ที่ส่งออก 840,513 ตัน มูลค่า 18,700 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน การส่งออกข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนเนื่องจากผู้นำเข้าที่สำคัญต่างเร่งนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยอุปทานในประเทศที่ลดลง ท่ามกลางภาวะราคาข้าวในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี
โดยเฉพาะในกลุ่มของข้าวขาว ทำให้การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณมากถึง 659,694 ตัน เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยยังคงส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แอลจีเรีย อิรัก มาเลเซีย ญี่ปุ่น บราซิล แคเมอรูน เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวนึ่ง มีปริมาณ 91,303 ตัน ลดลง 11.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) ปริมาณ 170,324 ตัน เพิ่มขึ้น 56.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เป็นต้น
สมาคมฯ คาดว่าในเดือนธันวาคม 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 800,000-900,000 ตัน และคาดว่าในปีนี้จะส่งออกได้ประมาณ 8.8 ล้านตัน เกินกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 8.5 ล้านตัน เนื่องจากผู้ส่งออกมีสัญญาส่งมอบข้าวที่ยังต้องเร่งส่งมอบจำนวนมาก ประกอบกับผู้นำเข้าที่สำคัญในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกกลาง และอเมริกา ยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้าวขาว ข้างนึ่ง และข้าวหอม เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง และสำรองไว้ใช้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567
ประกอบกับอุปทานข้าวที่ส่งออกได้ของไทยยังคงมีเพียงพอและราคาข้าวของไทยยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ จึงทำให้ผู้นำเข้าข้าวหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น โดยราคาข้าวไทยข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ 659 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม และปากีสถานอยู่ที่ 653-657 และ 593-597 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 659 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 513-517 และ 546-550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ
ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ส่งหนังสือเร่งรัดให้ประเทศไทยส่งมอบข้าวจีทูจี 2 ล้านตัน ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้เห็นชอบแล้ว และทางคณะที่ได้รับมอบหมายได้เดินทางไปเจรจาเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งต้องรอผลสรุปความชัดเจนอีกครั้ง จากนั้นจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในลำดับถัดไป