สว. สั่งลุยเปิดอภิปราย “หมูเถื่อน” พ่วงโฉนดการเกษตรปิดช่องโหว่รัฐ

19 ม.ค. 2567 | 05:57 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2567 | 05:57 น.

“สว.” เครือข่ายเกษตรกร เตรียมเปิดอภิปราย “หมูเถื่อน-โฉนดเพื่อการเกษตร” หวังจี้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมท้วงติงเร่งปิดช่องโหว่ ชี้เป็นผลดีกับรัฐมนตรีได้โชว์ผลงาน “กิตติศักดิ์”เผยถูกเบรก อภิปราย “ทักษิณ” ได้รับอภิสิทธิ์เหนือนักโทษทั่วไป อ้างความปรองดอง

คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 และได้เข้าบริหารราชการแผ่นดินนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ถึง ณ ปัจจุบัน ข้อเท็จจริงเวลาผ่านประมาณ 4 เดือน รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขในหลายปัญหาสำคัญตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากได้มีการแถลงนโยบายไปแล้ว

 

สว. สั่งลุยเปิดอภิปราย “หมูเถื่อน” พ่วงโฉนดการเกษตรปิดช่องโหว่รัฐ

 

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี นายเสรี สุวรรณภานนท์เป็นประธาน ได้เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 153 ซึ่งจะใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีนั้น ล่าสุดวันที่ 15 ม.ค. 2567 ได้มีการประชุม กมธ.เพื่อติดตามความคืบหน้า

 

“ในเรื่องนี้มีผู้ใหญ่หลายฝ่ายไม่อยากให้มีการอภิปราย อ้างเหตุผลเพื่อความปรองดอง ซึ่งความจริงสิ่งที่ผมตั้งใจจะอภิปรายเป็นเรื่องของคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่กลับมาพำนักในประเทศไทยในฐานะนักโทษ ได้รับอภิสิทธิ์แตกต่างจากคนอื่นหรือไม่ ประชาชนหลายคนอยากรู้ความจริง ซึ่งได้ลงรายชื่อเป็นผู้อภิปรายในลำดับที่ 3 แต่เมื่อมีการขอร้อง ผมจึงขอสละสิทธิ์ให้ท่านอื่นได้อภิปราย”

สว. สั่งลุยเปิดอภิปราย “หมูเถื่อน” พ่วงโฉนดการเกษตรปิดช่องโหว่รัฐ

ด้านนายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งใน สว.ที่ยกมือโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งการใช้มาตรา 153 ถือเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ตอบข้อซักถามและแสดงผลงาน เป็นการซักถามในลักษณะที่เป็นกัลยาณมิตรว่า 4 เดือนที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง มองว่าเป็นผลดีต่อรัฐบาลและกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่ได้เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือเพื่อล้มล้างรัฐบาล เพราะรัฐบาลนี้ถือว่า สว.เลือกมากับมือ

“ผมรับผิดชอบ 2 เรื่อง ที่จะอภิปราย ได้แก่ สินค้าเกษตรเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศ ต้องมาดูกระบวนการตรวจสอบว่าเป็นหน้าที่ของใครในแต่ละขั้นตอน ตรงนี้มากกว่าที่เราจะคุยกัน ที่ผ่านมารัฐมนตรีที่กำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคุณไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่ไม่เคยเสนอนำเสนอต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการมากนัก มองว่าหากได้มีการนำเสนอจะเป็นโอกาสที่ดีและเป็นภาพเชิงบวก”

 

สว. สั่งลุยเปิดอภิปราย “หมูเถื่อน” พ่วงโฉนดการเกษตรปิดช่องโหว่รัฐ

 

นายรณวริทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการลักลอบนำเข้าสูงสูดไม่ใช่หมูเถื่อน แต่เป็นสินค้าประมงที่เป็นชิ้นส่วนปลา รองลงมาเป็นหมู และชิ้นส่วนไก่ตามลำดับ โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมหลักแสนล้านบาท เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องอภิปรายเพื่อนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณชน ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การยกระดับที่ดินส.ป.ก.4-01 เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งการอภิปรายจะเป็นข้อห่วงใยและท้วงติงเพื่อไม่ให้เกษตรกรทำผิดกฎหมายจากนโยบายรัฐ

 

สว. สั่งลุยเปิดอภิปราย “หมูเถื่อน” พ่วงโฉนดการเกษตรปิดช่องโหว่รัฐ

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นผู้บริหารของกรมปศุสัตว์ที่ได้มาชี้แจงกับกมธ.ได้แจ้งว่า ทางกรมฯได้มีมาตรการป้องกันการนำเข้าหมูเถื่อนและสินค้าปศุสัตว์ ทั้งระยะสั้น-ยาว อาทิ ผลักดันสินค้าประเทศที่มีความเสี่ยง เข้าสถานะ Red line เพื่อตรวจสอบก่อนที่จะนำออกจากเขตอารักขาของศุลกากร และเสนอให้กรมศุลกากร แลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีสินค้านำเข้าประเภทตู้เย็น (Manifest) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมปศุสัตว์ และผลักดันให้กรมปศุสัตว์จัดตั้งโรงงานกำจัดซาก “Rendering Plant” เพื่อทำลายแทนการฝังกลบ

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,958 วันที่ 18-20 มกราคม พ.ศ. 2567