นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (งบประมาณ 14,000 ล้านบาท/ปี) ครั้งที่ 2/2567 โดยมีคณะอนุกรรมการฯ จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีวาระที่สำคัญคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้สถานศึกษาได้รับนมโรงเรียนก่อนปิดภาคเรียน ตลอดจนวางแนวทางเฝ้าระวังกำกับติดตามตรวจสอบการจัดส่งนมยู เอช ที ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนช่วงปิดภาคเรียนเพื่อให้ได้รับมอบนมที่มีคุณภาพ ครบถ้วน ทันเวลา ตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ร่วมกันประเมินสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว พบว่า ความต้องการน้ำนมดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับกลไกราคาตลาด อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำนมดิบที่นำมาใช้ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปี 2566 อีกทั้งต้องเฝ้าระวังป้องกันและลดความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการบางราย อาจจะปฏิบัติไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 ฉบับที่ 2
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ จึงร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้สถานศึกษาได้รับนมโรงเรียนล่วงหน้าก่อนปิดภาคเรียน โดยกำหนดมาตรการติดตามการผลิตและการจัดส่งนมโรงเรียนชนิดยู เอช ที และกำหนดแบบรายงานแผนการผลิตและแผนการจัดส่งนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (ภาคเรียนที่ 2/2566) รวมถึงกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งแผนการผลิต แบบรายงานรายชื่อคู่สัญญาจ้างผลิตนมยูเอชทีในโครงการฯ ซึ่งอนุกรรมการขับเคลื่อนนมโรงเรียนระดับกลุ่มพื้นที่จะแจ้งคณะทำงานตรวจสอบโรงงานหรือสถานประกอบการไปตรวจสต๊อกนมโรงเรียนชนิดยู เอช ที โดยมีชุดเฉพาะกิจจากส่วนกลางเข้าร่วมด้วย เพื่อสรุปรายงานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการฯ พิจารณาความถูกต้องครบถ้วน
นอกจากนี้จะสุ่มเก็บตัวอย่างนมยูเอชทีส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมปศุสัตว์ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพและการปลอมปนนมผงมาใช้ผลิตนมโรงเรียน หากพบว่า ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ จะพิจารณาโทษตามฐานความผิดที่ตรวจพบอย่างเด็ดขาดต่อไป
สำหรับมาตรการติดตามการส่งมอบนมโรงเรียนของผู้ประกอบการให้แก่โรงเรียน ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลา กำหนดให้ให้ผู้ประกอบการแจ้งแผนส่งมอบนมโรงเรียน ให้แก่คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอาหารรนมเพื่อเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด เพื่อให้คณะทำงานติดตามตรวจสอบการส่งมอบนมโรงเรียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการ
นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้เชิญผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าร่วมสังเกตการณ์ตรวจสอบติดตามการผลิตและการจัดส่งนมโรงเรียนชนิดยู เอช ที สำหรับช่วงปิดภาคเรียนด้วย
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวย้ำว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้โรงเรียนได้รับนมโรงเรียนล่วงหน้าก่อนปิดภาคเรียน เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ ครบถ้วน ไม่ล่าช้า รวมถึงเป็นไปตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรียนต้องให้ความสำคัญและเข้มงวดในขั้นตอนการส่งมอบและรับมอบนมโรงเรียน
ขณะที่ แหล่งข่าวผู้เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปี 2567 เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางกรมปศุสัตว์เปิดระบบรับแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 ระหว่างวันที่ 16-29 มกราคม 2567 (คลิก)