นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practice : GAP) สำหรับตอบโจทย์การผลิตพืชอาหารสัตว์ รวมถึงการมีข้อกำหนดห้ามเผาตอซังในแปลงปลูก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้นและต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงแล้ว ยังเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยลดข้อครหาว่าเป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ มีนโยบายไม่สนับสนุนการบุกรุกป่า และเผาวัสดุทางการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมควบคุมมลพิษ ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในเขต 9 จังหวัดภาคเหนือ ตลอดจนร่วมกับวิทยาลัยชุมชนน่าน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดทำโครงการสวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น เมื่อปี 2557 และ 2559 ตามลำดับ และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ตรวจวัดคาร์บอนในกระบวนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นำร่องที่จังหวัดลพบุรีและชัยนาท คาดว่าจะได้ผลการตรวจวัดออกมาในเดือนมีนาคมนี้ และหลังจากได้ผลตรวจวัดแล้วจะต้องหากระบวนการลดการปล่อยคาร์บอนให้ต่ำที่สุด
ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ได้ขอความร่วมมือจากสมาชิก ให้ดำเนินนโยบายจัดซื้อเพื่อความยั่งยืนในธุรกิจอาหารสัตว์ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ไม่สนับสนุนการลักลอบนำเข้า 2.รับซื้อผลผลิตที่มีแหล่งที่มาถูกต้อง และ 3.ไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากแหล่งที่มีการเผาตอซัง รวมถึงขอให้สมาชิกวางโครงสร้างการพัฒนาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยจะต้องกำหนดนโยบาย เตรียมการลงทุน จัดหาเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาการปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ได้มาตรฐานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ปัจจุบัน สมาชิกหลายรายของสมาคมฯ ได้ดำเนินการจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับการจัดหาวัตถุดิบ และประกาศนโยบาย “ไม่รับและไม่นำเข้าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่รุกป่า และพื้นที่ที่มาจากการเผา” เรียบร้อยแล้ว อาทิ เครือซีพี เครือเบทาโกร และคาร์กิล มีทส์ (ไทยแลนด์) เป็นต้น
“นโยบายนี้จะดำเนินการเพียงประเทศไทยฝั่งเดียวไม่ได้ ต้องครอบคลุมถึง การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่จะต้องปฏิบัติในเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน กล่าวคือ ต้องแสดงแหล่งที่มาของผลผลิตได้ ซึ่งจะต้องร่วมกันหาวิธีส่งเสริมให้ประเทศเพื่อนบ้านหยุดการเผาเพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยสมาคมฯและสมาชิกยินดีสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่”
อย่างไรก็ดีข้อมูลจาก GISTDA เมื่อวันก่อนระบุว่า จุดความร้อนของไทยอยู่ที่ 130 จุด แต่ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่กัมพูชา 2,456 จุด และในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะมาเยือนประเทศไทย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ จึงอยากขอฝากรัฐบาลไทย หยิบยกประเด็นแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนขึ้นมาหารือเพื่อกำหนดทางออกร่วมกันในส่วนการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพด แม้ปัญหาหลักในกัมพูชาจะเกิดจากการเผาในนาข้าวก็ตาม