9 ทางออก แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เร่งด่วน ใช้บิ๊กดาต้าแก้ปัญหาระยะยาว

13 ก.พ. 2567 | 11:04 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2567 | 13:05 น.

นักวิชาการแนะ 9 ทางออกแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5ระยะเร่งด่วน ต้องลดการเผาภาคเกษตรทั่วประเทศ ส่วนระยะยาวใช้บิ๊กดาต้า เชื่อมโยงภาคการผลิต พร้อมกำหนดโซนนิ่งแก้ปัญหา

บทความโดย : ผศ.ดร. อริศรา เจริญปัญญาเนตร อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย

                        เชียงใหม่

กลายเป็นอีก 1 วิกฤตประจำปีของประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี ที่ทุกภาคส่วนต้องระดมสรรพกำลังเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ตลอดจนหมอกควันทั้งที่เกิดในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน ปลิวข้ามแดนรวมตัวกันในไทย ผนวกกับมลพิษที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะ ระบบขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและการเผาไหม้จากภาคเกษตร ทำให้สภาพอากาศทั่วประเทศถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควัน ที่สั่งสมมานานกว่า 10 ปี นำไปสู่การเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ให้รัฐบาลจัดทำ “พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ให้คนไทยเข้าถึงอากาศสะอาดได้อย่างเท่าเทียม

หากศึกษาด้วยความเข้าใจและเข้าถึงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็จะสามารถบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนทั่วประเทศได้ ทั้งยังนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบแบบองค์รวมในระยะยาว โดยพิจารณาจากข้อมูลรอบด้านครอบคลุมกลไกด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลัง รวมถึงการกำหนดมาตรการจูงใจ (Incentive) และบทลงโทษ ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชนน พ.ศ... ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ก็จะทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

9 ทางออก แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เร่งด่วน ใช้บิ๊กดาต้าแก้ปัญหาระยะยาว

ในการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะที่มาจากการเผาทันที ซึ่งแนวทางที่จะส่งเสริมทุกภาคส่วนให้ลดการเผาได้ คือ

1.รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนในการให้มาตรการจูงใจ เช่น การสนับสนุนด้านการเงินกับเกษตรกรที่ไม่เผาตอซัง แต่นำมาเป็นวัตถุดิบในการมาทำ "biomass" ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือจัดหานวัตกรรมที่สามารถช่วยลดการเผาได้

2.การบังคับให้เอกชนทุกรายมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ และมีนโยบายไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผาและบุกรุกป่า ตลอดจนขึ้นทะเบียนผู้รับซื้อที่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ

3. รัฐบาลต้องจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนอย่างเป็นระบบและมีมาตรการควบคุมไม่ให้เผาและบุกรุกป่า

4.ธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)ต้องมีมาตรการตรวจสอบที่รัดกุมและไม่ให้สินเชื่อหรือปล่อยกู้ ให้เกิดการเพาะปลูกในพื้นที่ผิดกฏหมาย

5. รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนทีมป้องกันไฟป่า ในการจัดตอิดตั้งระบบเตือนภัย ซื้อเครื่องมือหรืออุปกรณ์ป้องกันไฟ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

6. ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดตั้งสหกรณ์ประจำตำบล เพื่อให้บริการการเก็บเกี่ยว รวบรวมเศษวัสดุทางการเกษตร ในการนำไปทำพลังงานทดแทน

7. ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการเผา และสร้างค่านิยมไม่เผาขยะและวัสดุเหลือใช้

8. ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ในการบริหารจัดการและป้องกัน ตลอดจนจัดทำความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันหมอกควันข้ามแดน

9. ภาครัฐ ควรให้การสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจ ให้คนย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่บุกรุกป่า มาทำการเกษตรในพื้นที่ราบและมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และปัญหาหมอกควันในระยะยาว ภาครัฐต้องจัดทำ Big Data เชื่อมโยงระบบการผลิตภาคการเกษตรอย่างสมดุลและเหมาะสม ควบคู่กับการจัดทำแผน Zoning สินค้าเกษตร ปรับโครงการสร้างการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักให้เหมาะกับพื้นที่และดิน โดยเฉพาะข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงสร้างกลไกเพื่อให้เกิดแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นแบบไม่เผา การจัดการ supply chain ผลผลิตที่ได้จากนวัตกรรมการไม่เผา ดูแลกลไกการตลาด เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาและรายได้ที่มั่นคง การสร้างโอกาสการซื้อขาย Carbon Credit รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้วยความโปร่งใส

สำหรับฝุ่นควันที่เกิดจากรถยนต์และภาคการขนส่ง รัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้ากับผู้ใช้ที่ชัดเจนและการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อลดต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสนนราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่เข้มงวดในตรวจสอบการปล่อยมลพิษทางอากาศที่เป็นมาตรฐานสากล

ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 จะต้องมีบทลงโทษที่สามารถควบคุมหรือหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดฝุ่นและหมอกควันได้ เช่น กำหนดค่าปรับ หรือ มาตรการทางภาษี กับผู้ที่ปล่อยมลพิษฝุ่น PM2.5 เพื่อให้การแก้ปัญหานี้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน