KEY
POINTS
ไทย-ภูฏาน สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 ความสัมพันธ์โดยทั่วไปมีความใกล้ชิดทั้งในระดับราชวงศ์ รัฐบาล และประชาชน โดยไทยมีฐานะเป็นประเทศผู้ให้และเป็นมิตรประเทศของภูฏาน ผ่านความช่วยเหลือด้านวิชาการ ขณะที่ภูฏานให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับไทย ทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว พร้อมทั้งนำประสบการณ์ของไทยไปปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศด้วยดีเสมอมา
นโยบายด้านเศรษฐกิจของภูฏานนั้น เริ่มดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยการเปิดประเทศแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมถึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ไม่ต้องการให้มีการลงทุนมากเกินไป เนื่องจากต้องการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของประเทศ
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจ ภูฏาน มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่พยายามส่งเสริมการส่งออก และพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักการพึ่งตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายความสุขมวลรวม (Gross National Happiness : GNH) โดยอยู่ระหว่างการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปด้วยความช่วยเหลือจากธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือจากตะวันตก อินเดีย และญี่ปุ่น
ส่วนรายได้สำคัญของภูฏาน ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำให้อินเดีย และการท่องเที่ยว ขณะที่ด้านการค้าภูฏานมีนโยบายเปิดประเทศสู่ภายนอก โดยเริ่มแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปสู่ภาคเอกชน ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขยายความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย
แต่อย่างไรก็ดีภูฏานผูกพันและต้องพึ่งพาอินเดียเป็นหลัก อินเดียจึงมีอิทธิพลต่อการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศของภูฏาน เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลการค้าของภูฏานนั้น ภูฏานมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ประกอบไปด้วย ไฟฟ้าพลังงานน้ำ โลหะ เคมีภัณฑ์ ซีเมนต์แคลเซียมคาร์ไบด์ ลวดทองแดง แร่แมงกานีส ยิปซัม และผลผลิตทางการเกษตร โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ อินเดีย ฮ่องกง บังกลาเทศ ญี่ปุ่น เนปาล และสิงคโปร์
ขณะที่ สินค้านำเข้าสำคัญของภูฏาน นั่นคือ น้ำมันเชื้อเพลิง โลหะ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานพาหนะ โดยมีตลาดนำเข้าสำคัญ คือ อินเดีย เกาหลีใต้ ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน และเนปาล ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างไทยและภูฏานในปี 2566 อยู่ที่ 18.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 680 ล้านบาท
ล่าสุด ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย ได้หารือกับนาย Lyonpo D. N. Dhungyel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน ในระหว่างการเดินทางเยือนราชอาณาจักรภูฏาน 3 – 6 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา โดยทั้งสองประเทศพร้อมสานต่อความสัมพันธ์ทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ด้วยการ เจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน
ผู้แทนการค้าไทย ระบุว่า รัฐบาลไทยคาดว่าจะเริ่มประกาศเจรจา FTA ไทย-ภูฏาน ได้ในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ครั้งที่ 5 ที่ภูฏานจะเป็นเจ้าภาพ ในช่วงวันที่ 15 – 18 พฤษภาคม 2567 ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า FTA จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างกัน
ทั้งนี้ในเป้าหมายของการเจรจา FTA ไทย-ภูฏาน นั้น ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 4,300 ล้านบาท ภายในปี 2568 ซึ่งภูฏาน ต้องการส่งออกสินค้าเกษตรมายังประเทศไทย ได้แก่ แอปเปิ้ล มันฝรั่ง ส้ม และน้ำผึ้ง โดยขอให้ไทยเร่งรัดการอนุมัติการนำเข้าสินค้าดังกล่าวให้กับภูฏาน
ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และเตาอบไมโครเวฟ
พร้อมกันนี้ประเทศไทย ยังถือเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของชาวภูฏาน โดยในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวภูฏานเดินทางมาเข้าท่องเที่ยวในไทย 20,356 คน และมีแนวโน้มมากขึ้นในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป ซึ่งไทยมีแผนที่จะจัดทำระบบการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) สำหรับชาวต่างชาติ รวมถึงชาวภูฏาน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เพิ่มรายได้การท่องเที่ยว และยังมีนักท่องเที่ยวไทยไปท่องเที่ยวในภูฏานเพิ่มมากขึ้นด้วย
“ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 นี้ ภูฏาน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Sustainable Finance for Tiger Landscape ซึ่งเป็นเวทีการประชุมเกี่ยวกับการอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยฝ่ายภูฏาน ได้เชิญผู้แทนไทยเข้าร่วมด้วย ซึ่งทั้งสองประเทศยืนยันที่จะร่วมมือกันพัฒนาความร่วมมือในทุกมิติในฐานะพันธมิตรที่แท้จริง” ดร.นลินี ระบุ