เตือนสัตว์น้ำ 5 กลุ่มนี้ สายมูทำบุญสงกรานต์ ปล่อยลงน้ำได้บาปเต็ม ๆ

12 เม.ย. 2567 | 08:38 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2567 | 09:13 น.

กรมประมง เตือนสายมูทำบุญสงกรานต์ 2567 แนะนำปล่อยชนิดสัตว์น้ำที่เหมาะสม เมื่อต้องการทำบุญปล่อยปลา ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ชี้สัตว์น้ำ 5 กลุ่มใหญ่ที่ไม่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำ อาจได้บาปมากกว่าบุญ

วันนี้ (12 เมษายน 2567) นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นี้กรมประมง ขอเตือนประชาชนสายบุญให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเลือกปล่อยชนิดสัตว์น้ำที่เหมาะสม เมื่อต้องการทำบุญปล่อยปลา โดยควรเป็นพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นของไทยที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

นายบัญชา กล่าวว่า บางครั้งการเลือกชนิดสัตว์น้ำเพื่อปล่อยทำบุญก็มักถูกละเลยและอาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่งผลให้มีการปล่อยสัตว์น้ำชนิดต่างถิ่นไปเป็นบางส่วน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ

ทั้งนี้เนื่องจากสัตว์น้ำต่างถิ่นอาจก่อให้เกิดการแก่งแย่งที่อาศัยและอาหารกับสัตว์น้ำท้องถิ่น หรือเป็นพาหะของโรคที่สามารถกระจายไปยังสัตว์น้ำท้องถิ่น หรืออาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมต่อสัตว์น้ำท้องถิ่นได้

สำหรับสัตว์น้ำที่ไม่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำโดยเด็ดขาดมีหลายชนิด ดังนี้

  • กลุ่มปลาดุก เนื่องจากปลาดุกที่หาซื้อได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นปลาดุกลูกผสม และปลาดุกยักษ์ (ปลาดุกรัสเซีย) ที่ถูกเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์มาเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ 
  • กลุ่มสัตว์น้ำสวยงามที่มาจากต่างประเทศ เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาทอง ปลาคาร์ป ปลากดเกราะหรือปลาซักเกอร์ 
  • กลุ่มปลาหมอสี 
  • กลุ่มเต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง ตะพาบน้ำไต้หวัน 
  • กลุ่มกุ้งเครย์ฟิช 

ทั้งนี้หากสัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดและเพิ่มจำนวนในแหล่งน้ำ จะส่งผลให้สมดุลของระบบนิเวศสัตว์น้ำพื้นเมืองลดจำนวนลง ซึ่งต้องใช้งบประมาณและระยะเวลาในการฟื้นฟูแก้ไขมาก ดังนั้นต้องป้องกันไม่ให้มีการหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำเป็นดีที่สุด

อธิบดีกรมประมง ระบุว่า การเลือกปล่อยชนิดสัตว์น้ำที่เหมาะสมเมื่อต้องการทำบุญปล่อยปลา โดยควรเป็นพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นของไทยที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาแก้มช้ำ ปลาสร้อยขาว ปลาโพง (ปลาสุลต่าน) ปลากาดำ  ปลายี่สกไทย ปลาหมอไทย ปลาช่อน ปลาบู่ทราย ปลาสลาด ปลากราย ปลาสวาย ปลากดเหลือง ปลากดแก้ว เป็นต้น 

ทั้งนี้กลุ่มปลาดังกล่าวเป็นปลาที่สามารถอาศัยได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป หากเป็นปลาที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะ เช่น ปลาบึก ก็ควรปล่อยลงในลำน้ำหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง สัตว์น้ำบางชนิดจำเป็นต้องเลือกพื้นที่ปล่อยให้เหมาะสม เพื่อสามารถใช้ชีวิตรอดและเจริญเติบโตได้ อย่างเช่น ปลาไหลนา ควรถูกปล่อยลงในบริเวณที่กระแสน้ำไหลเอื่อย พื้นที่เป็นดินแฉะ เพื่อให้ปลาไหลได้ขุดรูอาศัย เช่นเดียวกันกับกบนา 

ส่วนการปล่อยเต่า ควรแน่ใจก่อนว่าเต่าชนิดนั้นเป็นเต่าน้ำหรือเต่าบก เพราะหากนำเต่าบกปล่อยลงน้ำ เต่าบกจะไม่สามารถว่ายน้ำได้และตายในที่สุด วิธีการสังเกตว่าเป็นเต่าน้ำคือ เท้าเต่าน้ำจะมีพังผืดเชื่อมต่อระหว่างนิ้วเพื่อใช้สำหรับการว่ายน้ำและมีเล็บแหลมขนาดเล็ก ในขณะที่เท้าเต่าบกไม่มีพังผืดและมีเล็บขนาดใหญ่

นอกเหนือจากการเลือกชนิดสัตว์น้ำให้เหมาะสมแล้ว ยังมีสิ่งที่ควรคำนึงอีกบางประการ ดังนี้ 

1. ปริมาณและขนาดของสัตว์น้ำ หากต้องการปล่อยในปริมาณมาก ควรเลือกขนาดที่เป็นลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแหล่งน้ำได้ดีกว่าปลาที่โตแล้ว 

2. สุขภาพของสัตว์น้ำ ควรเป็นสัตว์น้ำที่มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดโรค 

3. คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ ต้องเป็นแหล่งน้ำที่สะอาด มีปริมาณออกซิเจนเพียงพอ ไม่ใช่แหล่งน้ำเสื่อมโทรม โดยสังเกตเบื้องต้นจากสีของน้ำที่ไม่เป็นสีดำ ไม่ขุ่นด้วยตะกอนดิน หรือไม่เป็นน้ำสีเขียวเข้ม และไม่มีกลิ่นฉุน 

4. ช่วงเวลาในการปล่อยสัตว์น้ำ ควรเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเวลาที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะอาจทำให้สัตว์น้ำปรับตัวกับอุณหภูมิของน้ำใหม่ไม่ทัน ส่งผลให้สัตว์น้ำป่วยและตายได้ 

“การเลือกปล่อยสัตว์น้ำตามหลักการที่เหมาะสมและถูกต้อง ไม่ควรใช้พันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด และขอเชิญชวนให้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำของไทยที่กรมประมงแนะนำแทน การปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ไทยนี้ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาระบบนิเวศสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำบุญที่มีคุณค่าด้วย” อธิบดีกรมประมง กล่าว