ในอดีตไทยสามารถส่งออกข้าวคิดเป็น 40% ของการส่งออกโลก และเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 มายาวนานกว่า 30 ปี โดยมีมูลค่าส่งออกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 15% และอยู่ในลำดับที่ 2-3 ของการส่งออกข้าวของโลก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง เช่น อินเดีย และเวียดนาม
ปัจจุบันไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าว 62 ล้านไร่ มีเกษตรกรที่เกี่ยวเนื่อง 4.6 ล้านครัวเรือน ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จากราคาผลผลิตผันผวน บางครั้งขายได้ตํ่ากว่าต้นทุน ปัจจัยการผลิตปรับตัวสูงขึ้น วัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องนำเข้า โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ 98% มีปริมาณนำเข้าประมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร รัฐบาลได้จัดทำโครงการสนับสนุนการลดต้นทุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ในลักษณะ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” (ภาครัฐและเกษตรกรจ่ายคนละครึ่ง) เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้เกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
แหล่งข่าวจากผู้นำเข้าและยี่ปั๊วปุ๋ยเคมี เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กรมการข้าวได้กำหนด 2 สูตรปุ๋ยในโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” งบประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยเกษตรกรมีส่วนร่วมสมทบค่าปุ๋ยครึ่งราคา ที่คาดจะต้องจ่ายอีกครึ่งหนึ่งรวมประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาท รวม 2 ส่วน คาดใช้งบกว่า 6 หมื่นล้านบาท (กราฟิกประกอบ) โดยกรมการข้าว ได้เปิดตัวปุ๋ย 2 สูตร ได้แก่ สูตร 20-8-20 เหมาะสำหรับข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงสุด 633 กิโลกรัม(กก.) ต่อไร่ และปุ๋ยสูตร 25-7-14 เหมาะสำหรับข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงให้ผลผลิตสูงสุด 900 กก.ต่อไร่ ซึ่งในท้องตลาดยังไม่มีจำหน่าย แต่ได้ข่าวว่ามีบริษัทเดียวที่ผ่านและได้จดทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรแล้ว ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดว่าเป็นรายใด
“งบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้มากมหาศาล ใครจะเตรียมวัตถุดิบทัน ปุ๋ยนำเข้าจากประเทศจีน 40% วันนี้ก็ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจีนยังเปิดขายหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลให้ผู้ผลิตปุ๋ยบางรายระงับการส่งออกปุ๋ยยูเรีย เพื่อลดความร้อนแรงราคาในประเทศ รวมทั้งค่าระวางเรือก็ปรับขึ้น เงินบาทไทยก็อ่อนค่าลง ทำให้มีต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น ถ้าอินเดียผลผลิตดี มีการเปิดประมูลปุ๋ย แล้วให้ราคาสูง ผู้ค้าก็แห่ไปที่โน้นหมด ส่วนเวียดนาม ก็ได้เปรียบมี FTA กับสหภาพยุโรป และสหรัฐ ถามว่าผู้ค้าอยากจะขายให้กับประเทศไหน”
แหล่งข่าวจากผู้ค้าปุ๋ยกล่าวว่า 1 ใน 2 สูตรปุ๋ยข้างต้น มีสูตร 20-8-20 ใกล้เคียงกับปุ๋ยยางพาราที่มีในอดีต แต่หากเป็นปุ๋ยข้าว หน้าซองฉลากจะต้องลงทุนพิมพ์ใหม่ จะมาประหยัด นำถุงปุ๋ยยางเดิมมาสวมแทนเพื่อสวมสิทธิ์ขายให้นาข้าวไม่ได้ ที่สำคัญการสั่งวัตถุดิบจะต้องมีบริษัทรู้ล่วงหน้าว่าจะมีโครงการนี้ถึงจะเตรียมทัน และการจดทะเบียนสูตรก็ไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไร แล้วถ้าขึ้นทะเบียนสูตรได้ ก็ต้องรอของจากต่างประเทศอยู่ดี อย่างไรก็ดีหากว่าปุ๋ยที่ออกมาดีจริง อยากให้ชี้เป้าเพื่อให้เกษตรกรไปดูแปลงตัวอย่างว่ามีที่ใดใช้บ้าง ได้ผลผลิตเป็นอย่างไร เพราะหากใช้แล้วผลผลิตไม่ดีจริง เกษตรกรเสียหาย จะลามกระทบอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบที่มีมูลค่า 4.4 แสนล้านบาทได้
อย่างไรก็ดีได้ข่าวจาก 2 สมาคมปุ๋ยฯ คือสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ประชาสัมพันธ์ว่า หากมีบริษัทใดมีความพร้อมจะทำปุ๋ยเคมี 2 สูตรให้กับรัฐบาล เพื่อจำหน่ายให้กับชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือน ให้ไปขึ้นทะเบียนสูตรกับกรมวิชาการเกษตรให้เร็วที่สุด ในเรื่องนี้ร้านค้าที่ได้เตรียมสินค้าไว้ขายให้กับชาวนา จะทำอย่างไร เพราะของยังมีสต๊อกจำนวนมาก หากขายไม่ได้ก็เจ๊งกันหมด
นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวว่า เรื่องปุ๋ยคนละครึ่งนี้ต้องรอมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ก่อน หลังจากนั้นทาง อ.ต.ก. จะมีการประกาศราคากลาง และเปิดรับสมัครโรงปุ๋ย ทั่วประเทศผลิตใน 2 สูตร ตามที่กรมการข้าวแนะนำ ไม่แน่ใจว่ามีกี่ราย ทั้งนี้โรงปุ๋ยต้องแจ้งความประสงค์ว่าต้องการขายในพื้นที่ใดบ้าง และให้ค่าจัดส่งเท่าไร จากนั้นดำเนินการจัดส่งปุ๋ย ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ณ สถานที่และเวลาตามแผนส่งมอบปุ๋ยทั่วประเทศที่กรมการข้าวกำหนด ทั้งนี้เกษตรกรต้องนำเอกสารการชำระเงินจาก ธ.ก.ส.มารับปุ๋ย ณ จุดส่งมอบ
นายธีรสินทร์ ธนชวโรจน์ เลขาธิการสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จากที่เกษตรกรต้องจ่ายเงินสมทบครึ่งหนึ่งของราคาปุ๋ย ที่เกษตรกรเลือกเองไม่ได้ เท่ากับถูกมัดมือชก ขณะที่ปุ๋ย 2 สูตรนี้ เป็นเพียงผลจากงานวิจัย แล้วถูกนำมาใช้เลย เปรียบเกษตรกรเป็นหนูทดลองยา จากที่ผ่านมาเกษตรกรที่ทำนามา 20-30 ปี รู้ดีว่าใช้ปุ๋ยอะไรแล้วได้ผลผลิตที่ดี ถ้าไม่ได้ผลก็รับผิดชอบกันเอง ที่สำคัญอยากทราบว่าปุ๋ย 2 สูตรข้างต้นที่จะใช้สำหรับโครงการนี้ ได้นำไปใช้ทดลองกับนาข้าวที่ใดบ้าง ได้ผลดีจริงหรือไม่ เพื่อชาวนาได้เกิดความมั่นใจ
แหล่งข่าวจากกรมการข้าว เผยว่า โครงการนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง 7.72% (ค่าเฉลี่ยต้นทุนการผลิตข้าวนาปีต่อไร่ ปี 2565-2566 จำนวน 4,405 บาท : 4,323 บาท) คาดว่าลดลง 340 บาท ต่อไร่ ส่วนเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น 10.27% (จากรายได้ที่เกษตรกรขายข้าวได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย ปี 2565-2566 จำนวน 4,909 บาท : 4,869 บาท ) คาดว่าเพิ่มขึ้น 504 บาทต่อไร่ โดยระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ-30 กันยายน 2567
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,982 วันที่ 11-13 เมษายน พ.ศ. 2567