ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์นํ้าตกตํ่าเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 มีมติเห็นชอบในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ในภาพรวมโดยมีข้อยุติในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าสินค้า หลังจากผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ให้ความเห็นว่า พันธกรณีภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก(WTO) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าโดยความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) ของ WTO กำหนดให้ประเทศสมาชิกสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องใบอนุญาตได้ โดยค่าธรรมเนียมจะต้องจำกัดตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการให้บริการเท่านั้น
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์นํ้าตกตํ่า เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณีที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการตกลงกลไกทางราคาระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการกับชาวประมง โดยมีการตกลงรับซื้อสินค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปลาผิวนํ้า กลุ่มปลาหน้าดิน และกลุ่มปลาหมึก มีกรมประมงเป็นตัวกลางในการที่จะมีการตกลงเรื่องราคา โดยมีการดำเนินการที่ผ่านมา ดังนี้ ปลาทรายแดง ขนาด 10-20 ตัว/กิโลกรัม (กก.) ราคา 25-26 บาท และขนาด 20-30 ตัว/กก. ที่ 23-24 บาท และขนาด 30 ตัว/กก.ขึ้นไปที่ 21-22 บาท/กก.และปลาตาหวาน ขนาด 10-20 ตัว/กก. 17-18 บาท/กก. และกลุ่มปลาทูน่า ไม่ตํ่ากว่า 50 บาท/กก. เป็นต้น
ทั้งนี้ปรากฎว่ามี 3 บริษัทใหญ่ที่อยู่ใน 2 สมาคม (สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย-สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย) ในจังหวัดสงขลา ไม่รับซื้อปลาจากชาวประมงเลย ดังนั้นจึงเห็นว่าควรจะเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าสัตว์นํ้าตามที่ได้มีการสรุปไปแล้ว ดังนี้ 1.สินค้าสัตว์นํ้าในกลุ่มปลา กรณีมีชีวิตให้คิดอัตราตัวละ 1 บาท และกรณีซากคิดในอัตรา กก.ละ10 สตางค์ อีกทั้งพร้อมที่จะทำ MOU รับซื้อสัตว์นํ้าเพื่อที่จะช่วยเหลือชาวประมงภายในประเทศ
2.สินค้าสัตว์นํ้าในกลุ่มปลาหมึก กรณีมีชีวิตคิดในอัตราตัวละ 1 บาท และกรณีซากคิดในอัตรา กก.ละ 10 สตางค์ 3.กลุ่มกุ้ง แบ่งเป็นกลุ่มย่อย ดังนี้ กลุ่มกุ้งทะเล 3 ชนิด (กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ กุ้งฟ้า) เพื่อการทำพันธุ์ คิดค่าธรรมเนียมในอัตราตัวละ 10 สตางค์, กลุ่มกุ้งทะเล 3 ชนิด คิดค่าธรรมเนียมในอัตรา กก.ละ 20 สตางค์ และ กลุ่มพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเล 3 ชนิด คิดค่าธรรมเนียมในอัตราตัวละ 1 บาท โดยมีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567
ทั้งนี้ที่ประชุมมีข้อสรุปให้ชะลอการพิจารณาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ออกไปก่อน 1 เดือนพ่วงเสนอรับซื้อปลาจากชาวประมงตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ปรากฎว่ามีบริษัทไม่รับซื้อปลาตามข้อตกลง ดังนั้นจึงเห็นว่าควรที่จะเก็บอัตราค่าธรรมเนียม
“ในที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 8-9 ปี ที่ผ่านมาโรงงานที่มีการใช้หมึกปริมาณมากถึง 50-100 ตันต่อวัน เป็นโรงงานที่มีชื่อในตลาดหลักทรัพย์ ไม่เคยรับซื้อสินค้าหมึกจากตลาดในประเทศ แต่เป็นสินค้าจากการนำเข้าและนำไปจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด และมีการกระจายผ่านช่องทางการตลาดอื่น ๆ เช่น ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก จึงควรต้องมีการกำกับดูแล”
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์นํ้าตกตํ่า กล่าวอีกว่า ทางสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้สอบถามเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าสัตว์นํ้าที่นำเข้าจากประเทศคู่ค้า เช่น จีนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ซึ่งในปี 2566 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 3.6 ล้านล้านบาท อินเดีย มูลค่าการค้า 5.5 แสนล้านบาท และปากีสถานมีมูลค่าการค้า 3.8 หมื่นล้านบาท รวมแค่ 3 ประเทศ กว่า 8.4 ล้านล้านบาท จึงมีข้อกังวลว่าไทยอาจจะถูกตอบโต้ทางการค้าหากมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าสัตว์นํ้า
โดยเฉพาะในช่วงนี้ไทยกำลังมีการส่งออกทุเรียนไปจีน รวมทั้งมีการส่งออกปาล์มนํ้ามันไปอินเดีย หากมีผลกระทบจะกระทบต่อเนื่องถึงเกษตรกรด้วย อย่างไรก็ดีทางสมาคมฯรับปากจะไปเจรจากับบริษัทที่ไม่รับซื้อปลา หรือจะหาบริษัทใหม่มารับซื้อแทน ดังนั้นเห็นว่าควรจะชะลอการเก็บค่าธรรมเนียมสัตว์นํ้าออกไปก่อน หรือยกเลิกไปเลยก็ได้ เพราะจะทำให้ลดความสามารถในการแข่งขันในตลาด
ขณะที่นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมประมง ส่งหนังสือด่วนที่สุด เรื่องการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าสัตว์น้ำภายในประเทศ จึงให้เร่งรัดออกมาตรการ 5 ข้อตามข้อเรียกร้อง เนื่องจากห้องเย็นมีสต็อกเต็มไปหมดและจะสร้างปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำตลอดทั้งปี
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,988 วันที่ 2-4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567