แหล่งข่าวหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจเกษตรและอาหาร ได้ส่งหนังสือถึง นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงพ.ศ.2558 พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ในขณะเดียวกันหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รับเชิญร่วมหารือกับผู้แทนการค้าระหว่างประเทศ อาทิสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตลอดจนสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง และองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์(NGO) ต่อข้อกังวลในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์การทำการประมงผิดกฎหมาย และการเจรจาการค้า (FTA) ที่สำคัญของประเทศไทยได้
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอนำเรียนข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อการแก้ไข ร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ....โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นปัญหา ดังนี้
1. ประเด็นปัญหาหมวดแรงงาน ดังนี้
-ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกบทนิยามคำว่า "โรงงาน" ออกจาก ร่างกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากธุรกิจการประมงจะครอบคลุมกิจกรรมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การเพาะเลี้ยง, การจับ, การขนส่ง,การแปรรูป ,การส่งออก และการบริหารจัดการแรงงาน ดังนั้นการมีหมวดโรงงานจึงจำเป็นต่อการแก้ปัญหาโรงงานที่ไม่ถูกต้องและให้ปฏิบัติต่อแรงงานตามกฎหมาย
- ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาถอดการบริหารจัดการแรงงานออกจากร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งมีผลต่อการประเมินในรายงาน TIP Report และ List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor ประจำปีของสหรัฐฯ และการประเมินการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ การคุ้มครองแรงงานในโรงงานและแรงงานบนเรือประมง มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับของกระทรวงแรงงานในมิติเชิงนโยบายและการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวพื่อควบคุม เฝ้าระวัง ติดตาม และบังคับใช้กฎหมายไม่ให้เกิดการค้ามนุษย์ดัานแรงงาน
ตลอดจนไม่ให้ประเทศไทยถูกกล่าวหาและจัดอันดับการค้ามนุษย์ด้านแรงงานซึ่งหากประเทศไทยถูกประเมินว่ามีปัญหาการค้ามนุษย์จะส่งผลกระทบทันทีต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งการแก้ไข ร่าง กฎหมายฉบับนี้อาจจะส่งผลต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง ค.ศ. 2007 ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ เป็นต้น
2. ประเด็นปัญหาหมวดค่าธรรมเนียม ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มการเรียกเก็บอัตราค่าธรรมเนียมการนำเข้าในอัตรา 20 บาท ต่อกิโลกรัม เนื่องจากการดำเนินการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคทาง การค้าที่มิใช่ภาษี หรือ Non-Tariff Barrier ซึ่งจะทำให้เกิดการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าได้ อีกทั้งยังเป็นภาระตันทุนของผู้ประกอบการอันจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการประมงลดลง และยังเป็นอุปสรรคต่อศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตรและแปรรูปของไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยทันทีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3. ประเด็นปัญหาหมวดเรือประมง ดังนี้
- ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขบทลงโทษ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ได้ครอบคลุมการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงและมาตรการการปกครองแล้ว ดังนั้นการแก้ไขบทลงโทษควรพิจารณาปรับแก้บทลงโทษให้มีความเหมาะสมในระดับที่จะเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้กระทำความผิดไม่ให้กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย อีกทั้ง การลักลอบทำประมงนอกอาณาเขตควรเป็นความผิดร้ายแรงและการกำหนดโทษความผิดร้ายแรง ควรพิจารณาตามหลักการมาตรฐานสากล และต้องไม่ขัดกับอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ตกลงไว้
- การกำหนดโทษของเรือขนาดเล็กและเรือขนาดใหญ่ควรมีความแตกต่างกัน
-การอนุญาตให้โอนถ่ายลูกเรือกลางทะเล ต้องพิจารณาว่าจะกระทบหลักการสากลและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ในการนี้ ซึ่งในการนี้ทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ไม่ได้คัดค้านการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แต่ต้องไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและการค้าระหว่างประเทศ ทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยินดีนำคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเข้าพบชี้แจงรายละเอียด เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขกฎหมายมีความรอบคอบโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป
ขณะที่นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อกังวลต่อกรณีหอการค้าทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีข้อกังวลและเสนอข้อคิดเห็นในการแก้ไข พ.ร.ก.การประมงฯ ใครที่ไม่ต้องการให้ไทยแก้ไขกฎหมายประมง ทั้งที่กฎหมายนี้ เป็นกฎหมายที่รัฐบาลที่ผ่านมากดทับผู้ประกอบการกิจการประมงพาณิชย์ทำให้ไร้คู่แข่งในสินค้าสัตว์น้ำ และใช้ขู่รัฐบาลไทย แล้วทำไมเอ็นจีโอ ไทยและระหว่างประเทศ ที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยเพราะได้ประโยชน์จากกฎหมายปัจจุบันและกังวลว่าถ้ามีการแก้ไขกฎหมายจะทำให้สภาพยุโรปไม่พอใจจนเป็นเหตุที่จะได้รับใบเหลืองอีกครั้ง ซึ่งอาจจะกระทบกับผลประโยชน์ของตนในการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังสหภาพยุโรป และที่สำคัญมีรางวัลนำจับจากกฎหมายปัจจุบัน ที่จะสามารถไปหาประโยชน์ในทางมิชอบได้ง่าย
ทางสมาคมที่ได้มีการแก้ไขเนื่องจากกฎหมายมีบทบัญญัติบางมาตราที่อาจจะขัดต่อหลักการของอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก หรือหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชน การเลือกปฏิบัติ ขาดความเสมอภาค และบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งมีบทกำหนดโทษที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำช้อน และไม่ได้สัดส่วนกับการลงโทษในความผิดทั่วไป เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและชาวประมงผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม
ตลอดจนส่งเสริมการทำประมงให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการจัดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบและพิจารณาลงโทษ และคณะกรรมการมาตรการทางปกครองในการพิจารณาออกคำสั่งตามระดับความรุนแรงของการกระทำความผิด สภาพการกระทำผิด และการกระทำความผิดซ้ำ ตลอดจนกำหนดโทษทางปกครองและโทษทางอาญาที่เหมาะสม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและป้องกันการกระทำผิด จึงจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับนี้
อย่างไรก็ดีการแก้ไขกฎหมายประมงฉบับใหม่จะแท้งซ้ำ 2 หรือไม่ หรือจะเป็นเผือกร้อนของรัฐบาล ต้องติดตามตอนต่อไป
เปิดแถลงการณ์ของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย