แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกข้าวที่เคยประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาล เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเตรียมเปิดประมูลเพื่อระบายข้าวล็อตสุดท้ายประมาณ 15,000 ตันของรัฐบาล ที่ยังเป็นกระแสดราม่าของผู้เห็นต่างเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยจากข้าวที่เก็บค้างสต๊อกมานานกว่า 10 ปี ว่า การเตรียมเปิดประมูลครั้งนี้ รัฐบาลน่าจะมีการล็อกเป้าขายให้กับผู้ส่งออกบางรายไว้แล้ว โดยผู้ที่คาดจะประมูลได้จะเป็นคนที่ทราบดีว่าข้าวที่อยู่ในโกดังหรือคลังมีคุณภาพอย่างไร จะให้ราคาอย่างไร ซึ่งคนซื้อคงคุยกับฝ่ายรัฐบาลไว้แล้วในเบื้องต้น เชื่อว่าบริษัทดังกล่าวมีศักยภาพช่วยรัฐบาลได้แน่นอน เพราะข้าวมีเพียง 1.5 หมื่นตันไม่ได้มากเลย
“ในอดีตรัฐบาลชุดเก่าขายข้าวขาว 5% ได้ราคาเฉลี่ยตันละ 11,000-13,000 บาท เวลานี้ข้าวขาว 5% ในตลาดอยู่ที่ ตันละ 21,000 บาท ซึ่งข้าวล็อตนี้แม้จะเป็นข้าวหอมมะลิที่มีราคาสูงกว่า แต่จะถูกตีราคาในเกรดข้าวขาว 5% ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วไม่เคยขายได้ในราคานี้ คาดราคาขายข้าวล็อตนี้จะไม่ต่ำกว่า 18,000 บาทต่อตัน ผู้ประมูลกล้าซื้อ เพราะเวลานี้ข้าวเก่าในตลาดโลกขาดแคลนหนัก มีความต้องการสูง เนื่องจากอินเดียที่เป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งโลกงดส่งออกข้าวขาวเพื่อป้องกันการขาดแคลนในประเทศ ส่วนไทยไม่มีข้าวเก่าเหลือแล้ว
ทั้งนี้มองจังหวะการขายจะไปได้ดี มีลูกค้าแอฟริการอซื้อ ดังนั้นเชื่อว่าราคาประมูลจะได้ราคาดี ยิ่งมีกุนซือเบื้องหลังเชียร์ให้ขายในช่วงนี้ คาดจะได้ราคาดีกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อตัน
นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด กล่าวว่า ทางกระทรวงพาณิชย์มาร้องขอให้ผู้ส่งออกไปดูข้าวในสต๊อก ซึ่งปริมาณ 15,000 ตันในวงการการค้าถือว่ามีปริมาณไม่มาก สามารถขายหรือส่งออกได้ในครั้งเดียว มีตลาดแอฟริกาที่ส่งขายกันเป็นประจำปีหนึ่งเป็นหลักล้านตันมีศักยภาพที่จะรองรับ ซึ่งข้าวเก่าสามารถนำไปปรับปรุงคุณภาพได้ นักวิชาการเองก็ไม่เข้าใจ คิดว่าจะนำข้าวเก่านี้ไปคละปนกับข้าวใหม่และส่งขายในประเทศ ดังนั้นหากกลัวว่าข้าวจะอยู่ในประเทศ ก็ให้รัฐบาลกำหนดในเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประมูล (ทีโออาร์)ไปเลยว่าเป็นข้าวเพื่อการส่งออก โดยให้ผู้ประกอบการแนบใบสั่งซื้อจากต่างประเทศ จึงจะได้สิทธิ์เข้าร่วมประมูล
แหล่งข่าวจากเจ้าของโรงสี-คลังในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก กล่าวว่า หากข้าวในล็อตนี้มีการเปิดประมูล คาดจะได้ราคาดี และมีตลาดรองรับ และเชื่อว่าจะมีผลต่อรูปคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์แน่นอน ยกตัวอย่างการจัดระดับราคาคุณภาพข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่แล้ว หากคลังใดถูกจัดให้ระบายข้าวสู่ภาคอุตสาหกรรมย่อมมีผู้ได้รับประโยชน์ มองว่าไม่ควรจัดแบบนั้น เพราะข้าวขาวยังแบ่งเป็นข้าวขาว 100% ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% ข้าวขาว 15% หากตกเกรดสู่ระดับชั้นข้าวที่ต่ำกว่า เช่น เป็นชั้นข้าวเสื่อม ตีเป็นสำหรับอาหารสัตว์ทันที ใครได้ประโยชน์ไม่ขอพาดพิง
รายงานข่าวระบุว่า ข้าวหอมมะลิ 100% ในสต๊อกของรัฐบาลที่เช่าคลังสินค้ากิติชัย หลัง 2 และคลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้งที่ยังตกค้างอยู่กว่า 15,000 ตันตามที่เป็นข่าวนั้น ถือเป็นข้าวล็อตสุดท้ายภายใต้โครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แบ่งเป็นคลังสินค้ากิติชัยหลัง 2 ปริมาณ 11,656.65 ตัน และคลังพูนผลเทรดดิ้งหลัง 4 ปริมาณ 3,356.59 ตัน
ข้อมูลจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ระบุก่อนหน้านี้ คลังกิตติชัย หลัง 2 รับมอบข้าวสารตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2557 ถึง 10 มีนาคม 2557 เก็บข้าวแล้ว 10 ปี 2 เดือน รวมปริมาณทั้งสิ้น 26,094 ตัน หรือ 258,106 กระสอบจาก 24 โรงสี และได้มีการระบายข้าวสารแล้ว 3 ครั้ง คงเหลือ 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ
ส่วนคลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 รับมอบข้าวสารตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2557 ถึง 29 เมษายน 2557 เก็บข้าวแล้ว 10 ปี 7 วัน มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 9,567 ตัน หรือ 94,637 กระสอบ จาก 6 โรงสี ซึ่งระบายข้าวสารแล้ว 4 ครั้ง คงเหลือ 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบ
อย่างไรก็ดีข้าวในจำนวนที่เหลือกว่า 15,000 ตัน ใน 2 คลังที่ตกค้างมาถึง ณ ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ซื้อไม่มารับมอบข้าว อคส.จึงได้ยกเลิกสัญญา ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 อคส.ได้ออกประกาศเงื่อนไขผู้ซื้อจะต้องแสดงหลักฐานทางการเงินซึ่งรองรับโดยธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เพื่อระบายข้าวใน 2 คลังอีกครั้ง แต่ในวันที่ 30 มกราคม 2567 อคส.ได้ออกประกาศยกเลิกการจำหน่ายข้าวดังกล่าว เนื่องจากไม่มีผู้เข้ารับฟังการชี้แจงทีโออาร์
แหล่งข่าวจากเจ้าของโรงสีและคลัง กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ชนะการประมูลไม่มาขนย้ายข้าว และทิ้งสัญญาเนื่องจากราคาข้าวที่ประมูลได้มีราคาสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น หากรับมอบและนำไปขายจะขาดทุนกระสอบละ 200-300 บาท ปัจจุบันก็มีการฟ้องร้องระหว่างผู้ประกอบการกับ อคส. โดยขณะเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด