นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้ดำเนินโครงการซ่อมแซมและเสริมศักยภาพแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กในพื้นที่ 9 จังหวัดลุ่มน้ำมูล ประจำปี 2567 สถาบันฯ ได้รับงบประมาณจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวม 7 ล้านบาท ดำเนินการ 10 โครงการ มีผู้รับประโยชน์ 2,922 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 6,624.5 ไร่ และจากกรมทรัพยากรน้ำ 41.25 ล้านบาท จำนวน 126 โครงการ มีผู้รับประโยชน์ 18,484 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 72,160 ไร่
ทั้งนี้ โครงการซ่อมแซมและเสริมศักยภาพแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็ก เป็นโครงการที่สถาบันปิดทองหลังพระฯ ดำเนินการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำให้ประชาชนมีน้ำใช้เพื่อทำการเกษตรตลอดทั้งปี ควบคู่กับการให้ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ และพัฒนาอาชีพประชาชนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการฯ นี้ ดำเนินการด้วยการซ่อมแซมฝายที่ชำรุดเสียหายให้เก็บกักน้ำได้ ซ่อมแซมคูหรือคลองส่งน้ำที่รั่วซึมให้กลับมาใช้ได้ปกติ รวมถึงระบบกระจายน้ำสู่แปลงเกษตร โดยการดึงน้ำขึ้นสู่หอถังสูงด้วยระบบโซล่าเซลล์ก่อนส่งน้ำกระจายไปสู่แปลงของประชาชนด้วย
จุดเด่นในการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของสถาบันปิดทองหลังพระฯ จะต้องมาจากความต้องการของประชาชน โดยสถาบันปิดทองหลังพระฯ จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ให้ ราษฎรสละแรงงานในการซ่อมแซม เสริมศักยภาพแหล่งน้ำ และหน่วยงานราชการระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สถาบันปิดทองหลังพระฯ ร่วมวางแผน ติดตาม แก้ไขปัญหาระหว่างการซ่อมแซมให้กับราษฎร และวางแผนบริหารจัดการน้ำโดยการตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำและแผนการใช้ประโยชน์จากน้ำ
ล่าสุด ปิดทองหลังพระฯ ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อส่งมอบโครงการซ่อมแซมเสริมศักยภาพแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กประจำปี 2567 ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรมทรัพยากรน้ำ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันส่งเสริมอาชีพต่อยอดหลังมีน้ำ สร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชน
โดยปิดทองหลังพระฯ ดำเนินโครงการเสริมศักยภาพฝายน้ำล้น บ้านหนองดู่น้อย หมู่ที่ 16 ตำบลบ้านยาง อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับงบประมาณจากกรมทรัพยากรน้ำ โดยโครงการที่บ้านหนองดู่น้อย ฝายเดิมชำรุดเสียหาย เกิดการกัดเซาะ ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ เกษตรกรทำนาได้ปีละครั้ง จึงได้ร่วมกับอำเภอลำทะเมนชัย เทศบาลตำบลบ้านยาง และประชาชนซ่อมแซมฝายให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติจนสามารถเพิ่มปริมาณและระยะเวลาเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง มีพื้นที่รับประโยชน์ 646 ไร่ 31 ครัวเรือน
ทั้งนี้ เทศบาลตำบลบ้านยางเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์กับประชาชน จึงได้สนับสนุนการขุดลอกหน้าฝายเพิ่มเติมอีก 5 จุด โดยใช้งบประมาณของเทศบาลฯ เอง จำนวน 336,000 บาท และราษฎรจำนวน 19 รายได้เสียสละที่ดินส่วนตัวเพื่อขุดลอกหน้าฝายเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำ
นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินให้การสนับสนุนกิจกรรมต่อยอดโครงการฯ โดยเข้ามาดำเนินการปรับปรุงคุณภาพดินและน้ำ พร้อมปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่ตำบลบ้านยาง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากแปลงนาเป็นแปลงเกษตรผสมผสาน เพื่ออนุรักษ์น้ำให้มีความชุ่มชื้น และปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอเพื่อลดต้นทุนในการสูบน้ำเข้านา ศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมาและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาได้เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการทำนาข้าวแบบดั้งเดิมเป็นการทำนาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 49 ราย 348 ไร่
โครงการที่บ้านใหม่ทะเมนชัย ตำบลไพล อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา สถาบันปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับอำเภอลำทะเมนชัย ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครราชสีมา และเทศบาลตำบลหนองบัววง ดำเนินงานโครงการปรับปรุงเสริมศักยภาพระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยได้รับงบประมาณจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ 592,000 บาท เพื่อให้สามารถกระจายน้ำได้อย่างครอบคลุมพื้นที่เกษตรและมีน้ำทำการเกษตรเพียงพอตลอดทั้งปี เกษตรกรสามารถนำน้ำไปใช้ในการปลูกผักแปลงรวมตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 130 ราย พื้นที่ 22 ไร่ และปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 35 ราย พื้นที่ 8 ไร่
“สถาบันปิดทองหลังพระฯ ไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องพัฒนาแหล่งน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ยังประสานกรมพัฒนาที่ดินเพื่อดำเนินการปรับปรุงดิน กรมการข้าวเพื่อนำพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่มาแนะนำให้ความรู้กับเกษตรกร และกรมหม่อนไหมเพื่อหาอาชีพเสริมนอกจากการทำนาด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และที่สำคัญ สถาบันปิดทองหลังพระฯ จะแสวงหาตลาดเพื่อมารับซื้อผลผลิต ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร เพื่อทำให้ครบวงจรอีกด้วย” นายกฤษฎา กล่าว