ผู้เลี้ยงหมู วอนกรมศุลฯเร่งคดี “หมูเถื่อน” 10 เดือนไม่คืบ หวั่นทำลายหลักฐาน

20 พ.ค. 2567 | 06:37 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2567 | 06:45 น.

ผู้เลี้ยงหมูวอนอธิบดีกรมศุลกากร ประธานคณะทำงานประสานงานแก้ไขปัญหาหมูเถื่อน เร่งสานต่อคดีให้จบ หลังนานกว่า 10 เดือนไม่มีการเรียกประชุมหารือคณะทำงาน ทำคดีไม่คืบ หวั่นช้า “ผู้ร้าย” ทำลายหลักฐาน โยกย้ายเงิน และหลบหนี

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เกษตรกรมีความหนักใจในความล่าช้าของการดำเนินคดีหมูเถื่อน ที่เวลานี้ได้หยุดชะงักอยู่หลายคดี ไม่ว่าจะเป็น “คดี 161 ตู้” และ “คดี 2,385 ใบขน” ที่ยังแตกเป็นคดีย่อยอีกหลายคดี ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการไม่มีการประชุมติดตามงานใด ๆ ในคณะทำงานฯ (คณะทำงานประสานงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมายและการบริหารจัดการของกลาง) มานานกว่า 10 เดือนแล้ว เป็นเหตุให้การสืบสวนสอบสวนหาหลักฐานข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนการทำงานของ DSI และป.ป.ช.ไม่คืบหน้า

ผู้เลี้ยงหมู วอนกรมศุลฯเร่งคดี “หมูเถื่อน” 10 เดือนไม่คืบ หวั่นทำลายหลักฐาน

ทั้งนี้อยากให้เร่งมีการเรียกประชุมคณะทำงานฯ เพื่อติดตามความคืบหน้า และเร่งแก้ไขปัญหา เพราะหากคดีมีความล่าช้า จนเกิดความเสียหาย อาจนำไปสู่การทำลายหลักฐานของผู้ร้ายในขบวนการหมูเถื่อน และกลับมาทำลายเกษตรกรได้อีกในอนาคต 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการทำงานของกรมศุลกากรก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผยในหลายประเด็น อาทิ การสอบสวนการยื่นขอเปิดเขตปลอดอากร (Free Zone) รวมถึงการตรวจสอบตู้ตกค้างในท่าเรือกรุงเทพและลาดกระบัง ตลอดจนเหตุผลที่ไม่มีการอายัดสินค้าในเขตปลอดอากรของผู้ต้องหา 2 บริษัทในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีที่โดนจับไปก่อนหน้า

ผู้เลี้ยงหมู วอนกรมศุลฯเร่งคดี “หมูเถื่อน” 10 เดือนไม่คืบ หวั่นทำลายหลักฐาน

อีกทั้งยังไม่มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่กรมประมง ที่อนุมัตินำเข้าสินค้าหมูเถื่อนที่สำแดงเท็จเป็นปลาแช่แข็ง  ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้คดีเดินหน้าต่อไปได้ ล่าสุด เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรเพื่อขอให้สานต่อภารกิจของคณะทำงานฯ แล้ว ซึ่งคาดหวังจะมีการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว รวมถึงการวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต

สำหรับคณะทำงานประสานงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมายและการบริหารจัดการของกลาง ตั้งขึ้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566 มีอธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานคณะทำงานฯ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นคณะทำงานหลายภาคส่วน อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ  ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เป็นต้น