กุ้งราคาวูบหนัก วอนรัฐเร่งชดเชย 20 บาทต่อกก.ห่วง “โรคตัวใส” ทุบส่งออก

06 มิ.ย. 2567 | 04:18 น.
อัพเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2567 | 04:18 น.

ผู้เลี้ยงกุ้ง ลุ้นบอร์ดกองทุนรวม “คบท.” ไฟเขียวแก้ราคาดิ่งหนัก หวังชดเชย 20 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณ 7,000 ตัน ตามมติ “บอร์ดกุ้ง” ขีดเส้น 15 มิ.ย. ต้องนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุมตามที่รับปาก ด้าน กรมประมงผวาโรคอุบัติใหม่ “ตัวใส” หรือTPD ทุบส่งออก 4.8 หมื่นล้านสะเทือน กดซ้ำราคาตก

สืบเนื่องจากคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ “ชริมพ์บอร์ด” มีมติเห็นชอบ (16 พ.ค.67) จัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2567 ตามแนวทางการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ปริมาณเป้าหมายผลผลิตกุ้ง รวม 7,000 ตัน โดยขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร กระทรวงพาณิชย์ โดยเร็วที่สุด

 

กุ้งราคาวูบหนัก วอนรัฐเร่งชดเชย 20 บาทต่อกก.ห่วง “โรคตัวใส” ทุบส่งออก

นายครรชิต เหมะรักษ์ สมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2567 สถานการณ์ราคากุ้งตกตํ่าอย่างรุนแรงตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะกุ้งขนาด 60-100 ตัวต่อกิโลกรัม (กก.) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของเกษตรกรรายย่อย ถือได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในรอบหลายปี โดยราคาขายตํ่ากว่าต้นทุนการผลิต 30-50 บาท/กก. และยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น ส่งผลเกษตรกรไม่กล้าลงลูกกุ้งเพื่อเลี้ยงต่อ จากไม่มั่นใจเรื่องราคา และขาดเงินทุนที่จะเลี้ยงต่อไป

“จากการสอบถามความคืบหน้า ได้รับการแจ้งจากกรมการค้าภายในว่า กำลังรอหนังสือจากกรมประมง เพื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณ ตามมติชริมพ์บอร์ด ในโครงการจัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2567 ตามแนวทางการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ปริมาณเป้าหมายผลผลิตกุ้ง รวม 7,000 ตัน ตามราคาเป้าหมายชี้นำตลาด โดยชดเชยส่วนต่างราคากุ้งไม่เกิน 20 บาทต่อกิโลกรัม และค่าใช้จ่ายดำเนินการด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรหรือผู้รวบรวมในโครงการฯ กิโลกรัมละ ไม่เกิน 10 บาท คาดว่าจะใช้งบประมาณ 210 ล้านบาท”

 

กุ้งราคาวูบหนัก วอนรัฐเร่งชดเชย 20 บาทต่อกก.ห่วง “โรคตัวใส” ทุบส่งออก

เมื่อทาง คบท.อนุมัติแล้วจะส่งไปให้ทางคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตร (คพจ.) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกุ้ง 32 จังหวัด เพื่อหาราคากลาง และเมื่อได้ราคาแล้วก็จะนำมาลบด้วยราคาเป้าหมาย ซึ่งหากราคากลางหรือราคาตลาดเท่ากับหรือสูงกว่าราคาเป้าหมายนำไม่ต้องจ่ายเงินสนับสนุนค่าชดเชยส่วนต่างราคา ตัวอย่างเช่น ขนาดกุ้ง 100 ตัว/กก.ราคาเป้าหมาย 130 บาท จะมีการชดเชยให้เกษตรกรสูงสุด ไม่เกิน 20 บาท/กก. เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการชดเชยกุ้งขนาด 90 ตัว/กก. ราคาเป้าหมาย 140 บาท/กก., ขนาด 80 ตัว/กก.ราคาเป้าหมาย 150 บาท/กก., ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาเป้าหมาย 160 บาท/กก. เป็นต้น แต่หากราคาตลาดสูงกว่าราคาเป้าหมายนำจะมีการพิจารณาประกาศยุติ หรือชะลอโครงการตามระเบียบกองทุนรวมต่อไป

กุ้งราคาวูบหนัก วอนรัฐเร่งชดเชย 20 บาทต่อกก.ห่วง “โรคตัวใส” ทุบส่งออก

นายครรชิต กล่าวว่า ขอให้กรมประมง เร่งเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม คบท. ให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาที่ได้รับปากกับเกษตรกรภายใน 15 มิถุนายน หากไม่มีความคืบหน้าทางสมาคมฯ จะหารือร่วมกันว่าจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อให้โครงการเดินหน้า

แหล่งข่าวจาก คบท. กล่าวถึง ผลการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 ได้โอนเงินให้ 21 จังหวัด 151.410 ล้านบาท ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด ชุมพร ตรัง สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี อยุธยา และปทุมธานี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 3,093 ราย ผู้รวบรวม 66 ราย เชื่อมโยง 2,931 ราย เชื่อมโยงจำหน่ายปริมาณ 5,888.47 ตัน วงเงินชดเชย 133.525 ล้านบาท อยู่ระหว่างปิดบัญชีโครงการ ปัจจุบันสถานะเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีเงินสดคงเหลือกว่า 3,140 ล้านบาท

กุ้งราคาวูบหนัก วอนรัฐเร่งชดเชย 20 บาทต่อกก.ห่วง “โรคตัวใส” ทุบส่งออก

แหล่งข่าวจากกรมประมง กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งในประเทศในเวลานี้ยังเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการบริโภคของผู้ซื้อลดลงหลังจากผ่านช่วงเทศกาลวันหยุดยาว กลุ่มสินค้าอาหารราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น เนื้อสุกรและผักสด ขณะผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ส่งผลต่อระดับราคาขายปลีกกุ้งขาวปรับตัวลดลง ดังนั้นเพื่อดึงราคาช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จึงเกิดโครงการโครงการจัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2567 เป็นระยะเร่งด่วน 3 เดือน

 

กุ้งราคาวูบหนัก วอนรัฐเร่งชดเชย 20 บาทต่อกก.ห่วง “โรคตัวใส” ทุบส่งออก

 

นอกจากนี้เกษตรกรก็มีความกังวลใน โรคอุบัติใหม่ Translucent post-larvae Disease (TPD) หรือ Glass post-larvae disease (GPD) หรือโรคตัวใส พบครั้งแรกในประเทศจีน ก่อนจะแพร่ระบาดออกไป ซึ่งปัจจุบันพบว่า โรคนี้ได้สร้างความเสียหายรุนแรงให้กับการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศเวียดนาม มักพบในลูกกุ้งระยะ PL4-PL7 โดยมีอัตราการตาย 90-100% ในระยะเวลาเพียง 1 วันหลังจากกุ้งแสดงอาการป่วย แต่เมื่อมีการใช้ยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะในโรงอนุบาล เพื่อหวังฆ่า vibrio ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง แต่กุ้งยังติดเชื้อ และเมื่อปล่อยเลี้ยงในบ่อเลี้ยง กุ้งก็กลับมาป่วยและตายภายในไม่กี่วัน หรือภายใน 1 เดือน

กรมประมงได้ขอความร่วมมือหน่วยงานความมั่นคงซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกช่องทางเข้าตามแนวชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบนำเข้ากุ้งทะเลและกุ้งนํ้าจืดมีชีวิต และซากกุ้งทะเล เสี่ยงติดโรคได้ แล้วถ้าเกิดโรคอุบัติใหม่เข้ามาในประเทศจะกลายเป็นปัญหาซํ้าเติมอุตสาหกรรมกุ้งไทยที่ปี 2566 มีมูลค่าส่งออก 48,000 ล้านบาท อยู่อันดับ 5-6 ของโลก” แหล่งข่าวกรมประมง

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,998 วันที่ 6-8 มิถุนายน พ.ศ. 2567