นายพยุง ภัทรกุลชัย กรรมการบริหารการจัดห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp board) หรือบอร์ดกุ้ง เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการประชุมหารือกรณีปัญหาและแนวทางแก้ไขกุ้งขาวแวนนาไมราคาตกตํ่า ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2566 นี้ ราคากุ้งขาวฯ ขนาด 100 ตัวต่อ 1 กก. ตกลงมาเหลือ ราคาซื้อขายกันอยู่ที่ กก.ละ 100 บาท
ขณะราคาประกันตามที่ได้แจ้งไว้จะอยู่ที่ราคา กก.ละ 119 บาท และกุ้งขาวฯ ขนาด 40 ตัวต่อ 1 กก.ตกลงมาเหลือราคาซื้อขายกันอยู่ที่ กก.ละ 140 บาท ขณะราคาประกันตามที่ได้แจ้งไว้จะอยู่ที่ราคา กก.ละ 165 บาท
นายพยุง กล่าวถึงสาเหตุกุ้งขาวแวนนาไมราคาตกตํ่าว่า เกิดจากกรณีที่ปริมาณกุ้งขาวฯ ล้นในตลาดโลก เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกหลักๆ ที่เป็นคู่แข่งการค้ากับประเทศไทยอย่าง อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เอกวาดอร์
ประเทศดังกล่าวเร่งระบายสินค้าออกมาขาย ซํ้ายังตัดราคาขายกุ้งขาวฯ ลงมาเยอะมาก เช่น ราคากุ้งขาวฯ ขนาด 100 ตัวต่อ 1 กก. ตัดราคาลงมาเหลือราคาซื้อขายกันอยู่ที่ กก.ละ 100 บาท และกุ้งขาวฯ ขนาด 40 ตัวต่อ 1 กก.ตัดราคาลงมาเหลือราคาซื้อขายกันอยู่ที่ กก.ละ 130 บาท
นอกจากนี้ เป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาพตกตํ่า ทั้งจากการเกิดสงคราม ปัญหาด้านพลังงาน ปัญหาความผันผวนของค่าเงิน ความแข็งตัวของค่าเงินบาท ทำให้ผู้บริโภคหลักอย่างกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ลดการนำเข้าสินค้ากุ้งขาวฯ
โดยประเทศจีนเอง ยังมีการพัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งขาวฯภายในประเทศ เพื่อลดการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็จะเห็นได้จากออเดอร์และคำสั่งซื้อของห้องเย็นต่างๆ ลดลง
แนวทางในการแก้ปัญหาเร่งด่วน นายพยุง แนะนำให้ดีมานด์และซัพพลายในตลาดโลกปรับตัวกันก่อน โดยภายใน 4-6 เดือนต่อไปนี้ ทางคณะกรรมการ Shrimp board จะต้องส่งสัญญาณให้เกษตรกรชะลอ การผลิตในช่วงฤดูการเลี้ยงกุ้งขาวฯ 3-4 เดือนนี้ ทั้งทุกฝ่ายก็กำลังรอท่าทีของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร
"รัฐบาลใหม่ควรพิจารณาและเดินตามแผนแม่บทในการบริหาร-จัดการการผลิตกุ้งขาวฯ ที่ทางคณะกรรมการ Shrimp board ได้วางไว้ให้หมดแล้ว เช่น เรื่องการประหยัดพลังงานโดยลดการใช้ไฟฟ้า และมาเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรใช้โซล่าเซลล์ในบ่อเลี้ยงกุ้งต่างๆ"
ขณะที่ นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการบริหารตลาดทะเลไทย ตลาดค้ากุ้งขาวแวนนาไม ระดับใหญ่ที่สุดในอาเซียน กล่าวถึง แนว ทางแก้ไขกรณีกุ้งขาวฯ ราคาตกตํ่า ประกอบด้วย
1. เกษตรกรควรชะลอการลงกุ้งในบ่อที่เลี้ยง แล้วรอผลิต-ปล่อยออกมาขายในตลาด ช่วงที่มีการบริโภคมากขึ้น เช่นในช่วงเทศกาลต่างๆ หรือช่วงฤดูกาลที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการบริโภคอาหารกันมากขึ้น
2. คณะกรรมการ Shrimp board ควรวางแผนลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร มีการพัฒนาสายพันธ์กุ้งขาวฯ และมีการถอดบทเรียน มีการส่งเสริมให้เกษตรที่พัฒนาการเลี้ยงกุ้งได้ดี-มีความเชี่ยวชาญ สามารถมาถ่ายถอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายใหม่ๆ หรือเกษตรกรที่ต้องการพัฒนา การเลี้ยงกุ้งขาวฯ ให้ดียิ่งขึ้น
3. จัดการและวางระบบสาธารณสุขที่ดีในการเลี้ยงกุ้งขาวฯ เพื่อป้องกัน-แก้ไข ควบคุมการเกิดโรคระบาดต่างๆ
4. ภาครัฐมีนโยบายและแผนงานในการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวฯ เช่น การลดต้นทุนในเรื่องอาหารกุ้ง ลดต้นทุนในการพัฒนา-จัดหาลูกกุ้งขาวฯ ที่นำมาเลี้ยง เป็นต้น