จาก ปัญาหาราคาปาล์มตกต่ำ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เตรียมเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อ ที่ประชุมครม. เศรษฐกิจ ในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2567 ประเด็นเกี่ยวกับผู้ค้ามาตรา 7 ต้องซื้อน้ำมัน B100 ตามราคาประกาศโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ กนป. เตรียมเสนอให้ ครม.บังคับให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องปฎิบัติตามมติครม.ในการซื้อน้ำมัน B100 ตามราคาประกาศของ สนพ. กระทรวงพลังงาน ตามเหตุผล 7 ข้อ ดังนี้
1.ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ล้วนเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องอยู่ภายใต้พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ปี 2535 ซึ่งมีกฎหมายกำหนดโทษทางแพ่งและอาญา ในการกระทำความผิดของผู้บริหารตามมาตรา 311 ซึ่งถือว่าผู้บริหารของบริษัทผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เข้าข่ายมีการกระทำความผิดตามมาตรานี้อย่างชัดเจน
2.ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน ในเรื่องการขายไบโอดีเซลในประเทศ ในอัตราลิตรละ 0.20 – 5.30 บาท (ข้อมูลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 – 7 มิ.ย. 2567) ถ้าไม่ปฏิบัติตามมติครม. รัฐบาลมีสิทธิสั่งเลิกเงินอุดหนุนทันที เพื่อตอบโต้การเอาเปรียบสังคมได้เช่นกัน
3.ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ได้กำไรจากค่าการตลาดระหว่าง 1.2432 – 2.0334 บาทต่อลิตร (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิ.ย. 2567) ในการขายหน้าปั๊ม ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง และรัฐบาลเข้ามาควบคุมยากเพราะมีการพยายามปกปิดข้อมูลจริง
4. การประกาศราคา B100 โดยสนพ.กระทรวงพลังงาน ทุกวันจันทร์ในแต่ละสัปดาห์ ได้กำหนดสูตรการคิดคำนวณราคาด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต B100 อันประกอบด้วยต้นทุนจริงวัตถุดิบ (น้ำมันปาล์มดิบ) บวกต้นทุนการผลิตและกำไรที่เหมาะสมให้ผู้ผลิต B100 อย่างละเอียดชัดเจนแล้ว ดังนั้น ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 โดยจริยธรรมการค้าที่สุจริต ไม่ควรเอาเปรียบสังคม
โดยเฉพาะคู่ค้าและเกษตรกร ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ไม่ควรขอส่วนลดจากผู้ผลิต B100 เพื่อเบียดบังส่วนลดไปเป็นกำไรของตนเอง อันเป็นลาภมิควรได้ เพราะส่วนลดไม่ใช่เป็นส่วนกำไรของตนเอง การขอส่วนลดปัจจุบันกินส่วนทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตและกำไรเล็กน้อยของผู้ผลิต B100 ไปเป็นกำไรของผู้ค้ามาตรา 7 ทำให้ผู้ผลิต B100 ทุกรายขาดทุนทั้งหมด
ดังนั้น จึงทำให้ผู้ผลิต B100 ต้องหาวัตถุดิบต้นทุนต่ำที่สุดมาทดแทนเพื่อความอยู่รอด จึงเป็นผลกระทบโดยตรงไปยังห่วงโซ่ราคาการซื้อทะลายปาล์มจากเกษตรกรในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกลายเป็นว่าผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เป็นห่วงโซ่ในอุตสาหกรรมปาล์มเพียงรายเดียวที่ได้กำไรสูงสุดจากการเอาเปรียบสังคมและผู้อื่นทุกรายมาโดยตลอด
5. ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ทุกรายในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกาศกำไรในแต่ละไตรมาสและในแต่ละปีมีกำไรมหาศาล แต่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ก็ยังเอาเปรียบเกษตรกรทำให้ราคาทะลายปาล์มตกต่ำ
6. ในการประชุมครม.เศรษฐกิจนัดแรก ทั้ง 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องอันประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ดำเนินการรับซื้อ B100 ตามประกาศ สนพ. กระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรับจะกลับไปดำเนินการเจรจากับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุม
แต่เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาในการประชุมกนป. รัฐมนตรีพลังงานกลับไม่เข้าร่วมประชุม แต่มีนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ในฐานะปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าประชุมและกล่าวในที่ประชุมว่า ยังหามาตรการทางกฎหมายบังคับใช้กับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงพลังงาน และความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาปาล์มทั้งระบบ
ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) จึงเห็นว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น กระทรวงพลังงานก็ควรจะยกเลิกการประกาศราคากลางของสนพ. เพราะถือว่าการประกาศราคากลางถูกผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 นำไปเป็นฐานราคาในการมาขอส่วนลดจากผู้ผลิต B100 เพื่อนำส่วนลดไปเป็นกำไรส่วนตัวของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เท่านั้น