"ราคาปาล์มตกต่ำ" ใครอยู่เบื้องหลัง มองตาปริบ มาเลเซียกิโลฯละ 7 บาท

08 มิ.ย. 2567 | 04:28 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2567 | 04:53 น.

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ บทความวิเคราะห์ เรื่อง “ราคาปาล์มตกต่ำ : ใครอยู่เบื้องหลัง”

ปัญหาราคาปาล์มสดไทยที่ตกต่ำในขณะนี้ มาจากปัจจัยภายในประเทศมากกว่านอกประเทศ แม้ว่าราคาปาล์มไทยจะขึ้นกับทั้งปัจจัยภายในและนอกก็ตาม ราคาผลปาล์มสดในประเทศขึ้นกับหลากหลายปัจจัย

สำหรับผมสรุปว่าขึ้นกับ 5 ปัจจัยหลักดังนี้ ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์ม, เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม (OER), ต้นทุนการผลิต, โครงสร้างราคา และอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล ซึ่งทั้ง 5 ปัจจัยไปเกี่ยวข้องกับอีกหลาย ๆ เรื่อง 1.สต๊อกน้ำมันปาล์มมีเท่าไร  สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 150,000 – 200,000 ตัน สต๊อกเพิ่มหรือลด 5 หมื่นตัน ราคาปาล์มลดหรือเพิ่ม 0.5 บาท สต๊อกไทยปี 2566 อยู่ที่ 3 แสนตัน และเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ 2.6 แสนตัน แม้จะลดลงแต่ยังมากกว่าระดับสต๊อกเหมาะสม

\"ราคาปาล์มตกต่ำ\"  ใครอยู่เบื้องหลัง มองตาปริบ มาเลเซียกิโลฯละ 7 บาท

ราคาผลปาล์มสดไทยยังไปโยงกับสต๊อกมาเลเซียอีกด้วย “สต๊อกมาเลเซียเพิ่ม ราคาผลปาล์มไทยลดลง” ช่วง 3 ปี (2021-2023)  สต๊อกมาเลเซียเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ที่ 2 ล้านตัน เฉพาะเมษายน 2024 เพิ่มจากเดือนเดียวกันในปี 2023 จาก 8 แสนต้น เป็น 9 แสนตัน

2.เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม (OER) เท่าไรกันแน่ OER มีผลต่อราคาผลปาล์มอย่างมาก OER เป็นข้อขัดแย้งระหว่างเกษตรกรกับผู้รับซื้อ ต่างกันต่างอ้าง และไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน 1% ของ OER ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาปาล์มเพิ่ม 0.3 บาท ราคาผลปาล์มพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 4.80 บาท/กก. เป็นราคาที่ OER 18% แต่ที่เกษตรกรสวนปาล์มได้รับในช่วงที่ผ่านมาต่ำกว่า 4 บาท โดยผู้รับซื้ออ้างว่า OER อยู่ที่ 14%

มาเลเซียใช้สูตรคำนวณราคาผลปาล์มคือ (ริงกิต/ตัน)  = ราคาผลปาล์ม (ริงกิต) ต่อ 1% น้ำมัน x การสกัดน้ำมัน (OER,%) โดย OER แต่ละพื้นที่กำหนดไม่เท่ากัน OER  เฉลี่ยเท่ากับ 19.86% (2023) และยังบวกราคาเมล็ดในปาล์ม (CPKO) ไปให้เกษตรกรด้วย ในมาเลเซียกำหนด OER ไว้ให้ผลปาล์มสดสุดมากสุด เมล็ดร่วงรอบโค่น 10 เมล็ดขึ้นไป หรือ ผลปาล์มสุกใช้เวลา 20-23 สัปดาห์หลังติดดอก (Week After Asthenic :WAA) รวมไปถึงเจ้าของสวนปาล์มจะเอาผิดหรือเก็บเงินจากแรงงาน หากตัดผลปาล์มดิบออกมา

\"ราคาปาล์มตกต่ำ\"  ใครอยู่เบื้องหลัง มองตาปริบ มาเลเซียกิโลฯละ 7 บาท

3.ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ที่ผ่านมาต้นทุนปาล์มไทยเฉลี่ย 3 บาท/กก. หลังจากโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนการผลิตเป็นมากกว่า 4 บาท/กก. หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% โดยเฉพาะราคาปุ๋ย ฉะน้นการที่ราคาผลปาล์มที่ต่ำกว่า 4 บาท/กก. เกษตรกรจึงขาดทุน จากงานวิจัยของผมพบว่าต้นทุนการผลิตปาล์มไทยสูงกว่ามาเลเซีย 3 เท่า

\"ราคาปาล์มตกต่ำ\"  ใครอยู่เบื้องหลัง มองตาปริบ มาเลเซียกิโลฯละ 7 บาท

4.ราคาผลปาล์มทางเดียว มาเลเซียให้ราคาผลปาล์มที่เกษตรกรขายได้มาจากราคาที่เกิดจาก CPO + CPOK แต่ไทยเกษตรกรได้ราคาเฉพาะ CPO  ราคาผลปาล์มมาเลเซียปัจจุบันอยู่ที่ 7 บาท/กก. 5.อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลดับวูบ อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลคือนาคตของปาล์มน้ำมันทั้งระบบ เพราะเป็นการนำ CPO และ CPKO ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในหลากหลายผลิตภัณฑ์

จึงไม่ต้องแปลกใจว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมปาล์มมาเลเซีย และอินโดนีเซียจึงสูงกว่าไทย และมีคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันอยู่ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลจะไม่เกิดในประเทศไทย เหตุผลเดียวคือ ต้นทุนการผลิตปาล์มไทยสูงกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซีย ทำให้นักธุรกิจไม่กล้าลงทุน เพราะไม่คุ้มกับการลงทุน