ราคาปาล์มนํ้ามันตกตํ่า ใครอยู่เบื้องหลัง จับตา กนป.เคาะแก้ปัญหา

06 มิ.ย. 2567 | 07:36 น.

ราคาปาล์มนํ้ามันที่เกษตรกรขายได้ เคยพุ่งขึ้นไปสูงถึงระดับ 10 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) สูงสุดในรอบ 10 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะเดียวกันรัฐบาลในช่วงนั้นยังมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มที่ขึ้นทะเบียนกว่า 3.9 แสนรายทั่วประเทศที่ 4 บาทต่อ กก.(อัตรานํ้ามัน 18%) ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ เป็นหลักประกันรายได้ และขายไม่ขาดทุน

แต่ล่าสุดปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ราคาปาล์มที่เกษตรกรขายได้ ณ ลานเท และโรงสกัดนํ้ามันปาล์มอยู่ที่ระดับ 3-4 บาทต่อกก.เท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรขายขาดทุน(ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 4 บาท/กก.) สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ชาวสวนปาล์มที่มีอยู่กว่า 4 แสนรายทั่วประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางลานเทและโรงสกัดนํ้ามันปาล์มยกเหตุผลช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ยาวต่อเนื่อง ประกอบกับบางโรงงานหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรประจำปี ทำให้ผลผลิตของชาวสวนปาล์มต้องรอคิวเข้าลานเทและโรงสกัด ขณะที่ผลผลิตมีปัญหาภัยแล้งและอากาศร้อน ทำให้อัตราการให้นํ้ามันของผลปาล์มตํ่ากว่ามาตรฐานที่ 18% ผู้ค้าถือโอกาสกดราคา

ราคาปาล์มนํ้ามันตกตํ่า ใครอยู่เบื้องหลัง จับตา กนป.เคาะแก้ปัญหา

ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ที่ส่งผลกระทบต่อราคาปาล์ม โดยปัจจัยภายในที่สำคัญคือ นโยบาย
ไบโอดีเซลของรัฐบาลที่ได้ยกเลิกนํ้ามันดีเซลหมุนเร็ว B10 เหลือเพียง B7 หรือผสมไบโอดีเซลเพียงร้อยละ 7 ให้เป็นนํ้ามันดีเซลพื้นฐานของประเทศ เนื่องจากสามารถใช้ได้กับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลทุกรุ่นทุกยี่ห้อ

จากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้การใช้ไบโอดีเซล (B100) เป็นส่วนผสมในนํ้ามันดีเซลหมุนเร็วลดลง ในแต่ละเดือนจะหายไปประมาณ 2-3 หมื่นตัน ส่งผลต่อเนื่องถึงโรงงานผลิตไบโอดีเซล (B100) ที่มีอยู่ 15 โรง มีกำลังผลิตรวมกว่า 11 ล้านลิตรต่อวัน ต้องลดกำลังการผลิตลงเหลือไม่เกิน 30% ในเวลานี้ และกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ล่าสุดร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาระบุ จะมีการฟื้นนโยบาย B10 กลับมาใช้อีกครั้งเพื่อเพิ่มการใช้ B100

ราคาปาล์มตกตํ่ายังเป็นผลจากผู้ผลิตนํ้ามันไบโอดีเซล (ผู้ค้านํ้ามันมาตรา 7) รับซื้อนํ้ามัน B100 ตํ่ากว่าราคากลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 35.29 บาท/กก. เพื่อประหยัดต้นทุนและสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้น เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ราคารับซื้อปาล์มนํ้ามันซึ่งเป็นผลผลิตต้นทางลดลง

นอกจากนี้จากโครงสร้างราคา นํ้ามันปาล์มอ้างอิงที่กรมการค้าภายใน ตกลงไว้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งโรงสกัดนํ้ามันปาล์ม โรงกลั่นนํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภค เช่น ราคาผลปาล์มทะลาย 5.70 บาท/กก. ราคานํ้ามันปาล์มดิบจะอยู่ที่ 32 บาท/กก. และราคาขายปลีกนํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภคขนาด 1 ลิตร จะอยู่ที่ 46.75 บาท/ขวด แต่ในทางปฏิบัติจริงทุกฝ่ายไม่ทำตามที่สัญญาไว้ โดยราคาผลปาล์มที่ตกตํ่า ไม่สอดคล้องกับราคานํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภคที่ยังอยู่ระดับสูง เป็นต้น

ส่วนปัจจัยจากภายนอกประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผู้ผลิตและส่งออกนํ้ามันปาล์มอันดับ 1 และ 2 ของโลกผลผลิตเริ่มออกมามากราคานํ้ามันปาล์มดิบ (CPO) ในตลาดโลกยังอยู่ระดับตํ่า ไม่จูงใจไทยส่งออก นํ้ามันปาล์มดิบ ส่วนยูเครนผู้ผลิตและส่งออกถั่วเหลือง และนํ้ามันเมล็ดทานตะวันรายใหญ่ของโลก ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด มีผลให้อินเดียผู้นำเข้านํ้ามันปาล์มรายใหญ่ของโลก ชะลอนำเข้านํ้ามันปาล์ม และหันไปนำเข้านํ้ามันถั่วเหลืองและนํ้ามันเมล็ดทานตะวันที่มีราคาถูกลงจากยูเครน อาร์เจนตินา บราซิล รวมถึงรัสเซียที่เป็นผู้ผลิตรายสำคัญของโลกเพิ่มขึ้น

ขณะปัญหาสำคัญของชาวสวนปาล์มไทยเวลานี้คือ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เป็นมากกว่า 4 บาท/กก. (ต้นทุนสูงกว่ามาเลเซีย 3 เท่า) เฉพาะอย่างยิ่ง ราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นมาก เมื่อราคาผลปาล์มตํ่ากว่า 4 บาท/กก. จึงขาดทุน

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธาน กนป.

ทั้งนี้ต้องจับตาการประชุม คณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ว่าจะมีมาตรการ หรือนโยบายอะไรออกมาขับเคลื่อนให้ราคาปาล์มนํ้ามันที่เกษตรกรขายได้ไม่ขาดทุน และยังพอมีกำไรมีเงินไว้ใช้จ่ายในครอบครัว และยังคงอาชีพต่อไปได้ และราคาที่โรงสกัดนํ้ามันปาล์มรับปากไว้กับอธิบดีกรมการค้าภายในจะรับซื้อไม่ตํ่ากว่า 4.50 บาท/กก. และหากผลปาล์มมีคุณภาพดีและสุกเต็มที่ให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราสกัดนํ้ามันปาล์ม จะเป็นไปตามที่รับปากไว้หรือไม่