สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) บูรณาการการศึกษารูปแบบใหม่ “เรียนร่วมกับการทำงาน” ผ่านโครงการ Co-Creation ยกระดับศักยภาพคนรุ่นใหม่ ติดอาวุธระหว่างเรียน เปิดโอกาสได้นำทักษะความรู้ด้าน STEM (Science Technology Engineering Mathematics) และ ดิจิทัล ควบคู่กับความเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ สร้างสรรค์นวัตกรรมรองรับความต้องการอุตสาหกรรมอาหาร และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การลงนามในครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังระหว่าง สถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจ พัฒนาการศึกษาของเยาวชนไทย “ร่วมสร้างคน สร้างอนาคต สร้างเครือข่าย” ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและตลาดแรงงาน
โดยซีพีเอฟมีส่วนร่วมเพื่อผลิตบัณฑิตวิศวกรคุณภาพ ที่มีแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurial mindset) นอกจากการเรียนภาคทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยแล้ว นักศึกษามีโอกาสได้ทำงาน และเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญของซีพีเอฟ โดยนำร่องความร่วมมือด้านวิศวกรรมศาสตร์ ใน 4 หลักสูตรสาขาวิชา ได้แก่ วิศวกรรมการผลิตเชิงบูรณาการ วิศวกรรมระบบไอทีและสารสนเทศ วิศวกรรมอุตสาหกรรมเกษตร วิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. กล่าวว่า สจล. และ ซีพี-ซีพีเอฟ มีความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง และความร่วมมือระหว่าง สจล. และซีพีเอฟ ในครั้งนี้ เป็นการเชื่อมโยงศักยภาพของภาคการศึกษากับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างนักศึกษาที่มีความสามารถที่รอบด้าน สร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และตอบโจทย์ภาคการเกษตรและอาหาร
โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ทำงานจริง ตั้งแต่ก่อนจบการศึกษา เสริมสร้างความเป็นผู้ประกอบการ จากการได้นำความรู้มาลงมือทำงานหรือแก้ปัญหาจริง
ผนวกกับการได้เรียนรู้โดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญของซีพีเอฟ สนับสนุนให้เด็กมีทักษะความพร้อม ในการทำงานทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนขีดความสามาถทางการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน
“ความร่วมมือครั้งนี้ช่วยผลักดันให้นักศึกษา ได้มีประสบการณ์ทำงานจริงในระหว่างเรียน ท้าทายให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้นำความรู้มาใช้ลงมือทำโครงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตอบโจทย์และปัญหาของธุรกิจได้จริง และสอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่การเรียนภาคทฤษฎีอย่างเดียวไม่เพียงพอ” รศ.ดร.คมสัน มาลีสี กล่าว
ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ความร่วมมือกับ สจล. สถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย เป็นการผนึกพลังกันสร้างคน สร้างอนาคต และสร้างเครือข่าย ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โดยซีพีเอฟเข้ามาร่วมบูรณาการองค์ความรู้และเน้นการปฏิบัติจริงมากขึ้น สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ ที่มีทักษะตรงตามความต้องการของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร โดยเฉพาะแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Mindset) เพื่อให้วิศวกรรุ่นใหม่สามารถดำเนินอาชีพในศตวรรษที่ 21 และมีความสามารถเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากลได้ เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษามีความพร้อมทำงานร่วมกับบริษัทได้ทันที ซึ่งองค์กรต้องการเห็นความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่ ร่วมขับเคลื่อนซีพีเอฟเติบโตสู่การ เป็น “ครัวของโลก” ที่ยั่งยืน
“ซีพี-ซีพีเอฟ มีความเชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่ มีความคิดก้าวหน้า และทักษะด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร ความร่วมมือกับ สจล. เป็นการเปิดเวทีให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการลงมือทำงานจริง สนับสนุนให้นักศึกษาได้แสดงความรู้ความสามารถด้าน STEM และเทคโนโลยี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้โดยไม่ต้องรอเรียนจบ
นับเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่ ที่มีขีดความสามารถสนับสนุนการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจของไทย ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สอดคล้องกับเป้าหมายและพันธกิจของซีพีเอฟ และหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่มุ่งดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรก็จะได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนในซีพีเอฟยึดถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง” นายประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ยังได้ร่วมมือกับ สจล. จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการศึกษาและสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาของ สจล. อย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรม CPF Open House 2024 ซึ่งสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ธุรกิจซีพีเอฟ กิจกรรม CPF Build Young Business Entrepreneur Workshop หรือ โครงการสร้างเถ้าแก่น้อยในรั้วมหาวิทยาลัย สร้างทักษะและแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่
โครงการ KOSEN หรือ สถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีความรู้และศักยภาพสูง เพื่อช่วยส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกิจกรรมต่างๆ นำไปสู่ความร่วมมือทางด้านวิชาการ งานวิจัยที่ต่อยอดองค์ความรู้ และนวัตกรรมระหว่างภาคธุรกิจและภาคการศึกษา ยกระดับมาตรฐานการศึกษาและการวิจัยของประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน