สศช.แนะตีกรอบเข้มคุมทุจริต "ปุ๋ยคนละครึ่ง" กรองชาวนา ร้านค้าร่วมโครงการ

28 มิ.ย. 2567 | 00:01 น.

สศช. เสนอความเห็นโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ของรัฐบาล แนะเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรพิจารณาให้ความสำคัญหลายเรื่อง ทั้งการคุมทุจริต กรองชาวนา ร้านค้า ร่วมโครงการ

“ปุ๋ยคนละครึ่ง” โครงการใหม่ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ที่จะนำมาใช้เป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือชาวนา ซึ่งจะดำเนินการภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ในชื่อ โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีวงเงินงบประมาณรวม 29,980.17 ล้านบาท โดยช่วยเหลือเกษตรกรไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท

การดำเนินโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ครั้งนี้ แน่นอนว่าจะต้องใช้งบประมาณไม่น้อย ซึ่ง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบวงเงินการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 29,980.17 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือ 

1. เงินทุนของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้สำรองจ่ายการดำเนินงานตามความต้องการโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ในส่วนของ 500 บาทต่อไร่ ที่รัฐบาลสมทบ บวกต้นทุนเงินตามระยะเวลา วงเงิน 29,518.02 ล้านบาท

2. งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2567 วงเงิน 462.15 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการของ กระทรวงเกษตรฯ ในการจัดหาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว และส่งมอบให้เกษตรกร เช่น ค่าบริหารจัดการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรค่าใช้จ่ายสุ่มตัวอย่างและวิเคราะห์คุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ เป็นต้น

สำหรับการดำเนินโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ของรัฐบาล ซึ่งกำหนดให้เกษตรกร กว่า 4.68 ล้านครัวเรือน ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยมีหน่วยงานหลายหน่วยงานได้เสนอความคิดเห็นเข้ามาประกอบการพิจารณาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งได้เสนอความเห็นเข้ามาดังนี้ 

โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 หรือ ปุ๋ยคนละครึ่ง โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีส่วนร่วมในการซื้อปุ๋ยในการสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในลักษณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ คนละครึ่ง” จะมีส่วนสนับสนุนต่อการลดต้นทุนการผลิตและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ ชาวนา ในช่วงราคาปุ๋ยและชีวภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้น 

รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการยกระดับผลผลิตจากการใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร ทั้งนี้ในส่วนของกรอบวงเงินงบประมาณ แหล่งเงิน และแนวทางดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เห็นสมควรให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าว โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ ปุ๋ยคนละครึ่ง 2567

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้กับ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้อย่างแท้จริง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรพิจารณาให้ความสำคัญต่อแนวทางการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. การสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ดิน และลักษณะภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น และช่วงเวลาการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมตามช่วงการเจริญเติบโตของต้นข้าว โดยใช้กลไกภาครัฐที่มีอยู่ คือ ศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชนที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยของชุมชน เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ในการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และตามความต้องการของพืชอย่างแท้จริง

2. การเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ให้เป็นไปตามคู่มือการปฏิบัติงานโครงการ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และ ธ.ก.ส. ควรเตรียมความพร้อม ในการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ 

  • การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการค้าปุ๋ยและชีวภัณฑ์/สหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ ต้องดำเนินการให้ถูกต้องและเป็นไปตามคุณสมบัติและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการอย่างเคร่งครัด 
  • การพัฒนาระบบข้อมูลโครงการที่ดำเนินการผ่าน Application ให้สามารถรองรับขั้นตอนการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว 
  • แหล่งกระจาย/จุดรับปุ๋ยที่เพียงพอและเหมาะสมกับระยะเวลาการใช้ปุ๋ยของเกษตรกร 
  • แหล่งเงินทุนของเกษตรกรนำมาใช้ในการซื้อปุ๋ยล่วงหน้า 
  • การตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์และชีวภัณฑ์ให้เป็นไปตาม มาตรฐานที่กำหนด 
  • แนวทางการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ อาทิ การผูกขาด กันระหว่างสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ 
  • การติดตาม ประเมินผลสัมฤทธิ์ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการปุ๋ยคนละครึ่งด้วย

3. ปัจจัยสนับสนุนอื่นที่สำคัญต่อการเพิ่มผลิตผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ดังนี้

  • การฟื้นฟูและบำรุงรักษาแหล่งน้ำเดิม พร้อมทั้งสร้างแหล่งน้ำใหม่ และมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย 
  • การเสริมสร้างความสามารถในการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็น เช่นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) การบริหารจัดการฟาร์มที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการโรค แมลง และ ศัตรูพืช เป็นต้น 
  • การสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตสูงและตรงตามความต้องการของตลาด

4. การดำเนินการในระยะต่อไป โครงการช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าว ควรกำหนดเงื่อนไขการช่วยเหลือ (Conditional Incentive) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต เช่น การกำหนดการลดการสนับสนุนปุ๋ยของภาครัฐในอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate) 

ควบคู่กับการให้แต้มต่อแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและหรือสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยยังคงรักษาระดับต้นทุนไว้ได้ให้สามารถเข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ของภาครัฐ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยที่ต่ำที่มีอัตราที่แตกต่างกันตามระดับความสามารถในการพัฒนาของเกษตรกร เป็นต้น