“ปุ๋ยคนละครึ่ง”ส่อฝืด ชาวนา 13 ล้านบัญชี มีเงินฝากไม่ถึงหมื่นบาท

17 ก.ค. 2567 | 00:00 น.

กรมการข้าวยัน “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” 2.9 หมื่นล้านบาท ไม่ล้ม ชง “ธรรมนัส”สร้างความชัดเจนสัปดาห์หน้า ขณะ กมธ.เกษตรฯ ขอข้อมูล ธ.ก.ส. พบ 13 ล้านบัญชีชาวนามีเงินไม่ถึง 1 หมื่นบาท ตัวแปรสำคัญโครงการสำเร็จหรือล้มเหลว เล็งเรียก 189 บริษัทตรวจสอบมีเอี่ยวนักการเมืองหรือไม่

สัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวมาแรง รัฐบาลจะมีทบทวน หรือล้มโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง งบ 2.9 หมื่นล้านบาท  และอาจมีผลทำให้พรรรคร่วมรัฐบาลถึงขั้นแตกหัก สืบเนื่องจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ สส.พรรคเพื่อไทย ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากเกษตรกรได้รับเสียงสะท้อนว่า ถ้าให้เลือกอยากได้เงินช่วยเหลือแบบเดิม คือ การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท มากกว่า

ทั้งนี้หากไม่ทบทวนอาจทำให้พรรคเพื่อไทยเสียฐานเสียงชาวนาทั่วประเทศ จึงทำให้มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ผลสรุปยังให้เดินหน้านโยบายปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่งต่อ เพื่อเอาใจพรรคร่วม โดยเน้นยํ้านโยบายต้องโปร่งใส ไม่มีข้อครหาเอื้อประโยชน์ ล็อกสเปกปุ๋ย ล็อกสูตรปุ๋ย หรือล็อกบริษัทขายปุ๋ย ต้องเปิดกว้างให้ทุกบริษัทสามารถเข้าร่วมโครงการได้ อีกด้านหนึ่งรัฐบาลยังยืนยันไม่มีการยกเลิกมาตรการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แต่หากราคาข้าวตกตํ่าเมื่อใดก็จะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้

“ปุ๋ยคนละครึ่ง”ส่อฝืด ชาวนา 13 ล้านบัญชี มีเงินฝากไม่ถึงหมื่นบาท

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการโครงการ สนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่งยังเดินหน้าต่อ แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะสามารถเปิดให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวใช้สิทธิ์ซื้อปุ๋ยได้เมื่อไร จากเดิมตามมติ ครม. (25 มิ.ย.67) ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 และล่าสุด (10 ก.ค.67) ได้แจ้งกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.กส.) เป็นวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นั้น อาจจะต้องเลื่อนไปก่อน

ทั้งนี้เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรจะต้องตรวจสอบผู้ผลิตปุ๋ยและชีวภัณฑ์ 189 รายที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการเพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ในส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่มีสหกรณ์การเกษตรสมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ 500 แห่ง จากที่มีอยู่ 1,199 แห่งยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ

 “ยืนยันว่าไม่มีการล้มโครงการ ขอทอดระยะเวลาออกไปเพื่อที่จะปรับปรุงโครงการและปิดรอยโหว่ที่มีการท้วงติงเพื่อทำให้โครงการมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ส่วนจะมีการเลื่อนออกไปวันที่เท่าไร จะหารือในสัปดาห์หน้าซึ่งจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต มีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน”

ด้าน นายศักดินัย นุ่มหนู ประธาน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง พบว่าเป็นโครงการที่หลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องและต้องส่งต่อกัน อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. เป็นต้น

ดังนั้นในการบูรณาการการทำงานยังไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ต้องเตรียมความพร้อม ทำให้ในทางปฏิบัติต้องเลื่อนออกไป และยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะมีโครงการช่วยเหลืออย่างอื่นหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าเป็นคนละเรื่องกับการจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท นอกจากนี้ กมธ.ยังได้ตั้งคำถามว่าหากมีชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือน ไม่มีเงินไปจ่ายเงินสมทบครึ่งหนึ่งจะทำให้เสียสิทธิไปเลยหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ชาวนาได้รับการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ แบบไม่ได้กำหนดเงื่อนไข แต่ครั้งนี้ชาวนาจะต้องจ่ายเงินสมทบครึ่งหนึ่งผ่านระบบแอปพลิเคชั่นของ ธ.ก.ส.

“ผมกำลังพิจารณาว่า ธ.ก.ส. ได้ให้ความรู้กับชาวนาในการที่จะทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันอย่างไร เป็นอีกประเด็นที่มีความเป็นห่วง รวมทั้งเรื่องของการตรวจสอบปุ๋ยที่มีการกำหนดสูตรปุ๋ย ซึ่งในที่ประชุมได้มีการพูดคุยหารือกันเรื่องสูตรปุ๋ยเคมีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีกับกรมวิชาการเกษตร สำหรับนาข้าวในโครงการนี้มีทั้งหมด 9 สูตร และยังมีปุ๋ยที่ไม่ได้มีไว้สำหรับนาข้าวอีก 5 สูตร จะต้องถอนออกหรือไม่ ซึ่งจะต้องแจ้งให้เกษตรกรรับทราบ เพราะถ้ายังคงมีอยู่ในเมนูปุ๋ยของ ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมโครงการ สั่งซื้อแล้วไม่มีก็จะเป็นปัญหาอีก”

นอกจากนี้ใน กมธ. ได้มีการตั้งข้อสังเกต และจะขอดูบริษัทปุ๋ยทั้งหมด เพื่อเชื่อมโยงว่า มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ขณะที่ยังมีเรื่องสำคัญที่น่าเป็นห่วง เพราะจากการให้ข้อมูลของ ธ.ก.ส.พบว่ามีชาวนากว่า 13 ล้านบัญชีมีเงินไม่ถึง 1 หมื่นบาท ที่ต้องจ่ายสมทบซื้อปุ๋ยและตามข้อเท็จจริงเวลานี้วิถีปกติของเกษตรกรจะมีกองทุนปุ๋ยหมู่บ้าน หรือชุมชน เพื่อใช้เงินตรงนี้ในการซื้อปุ๋ย และในข้อเท็จจริงเวลานี้ชาวนาส่วนใหญ่ได้เพาะปลูกข้าว และมีการใช้ปุ๋ยไปแล้ว บางรายหว่านปุ๋ยรอบ 2-3 แล้ว และจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) สำหรับนานํ้าฝน ที่เป็นข้าวไวแสง ก็หว่านปุ๋ยรอบหนึ่งแล้ว ปุ๋ยรอบสุดท้ายก็จะหว่านปลายเดือนสิงหาคม ถึงต้นเดือนกันยายน ดังนั้นดูแล้วโครงการปุ๋ยคนละครึ่งกว่าจะผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งการจองสินค้า การส่งมอบ กว่าจะถึงมือชาวนาจึงไม่น่าจะทันกับช่วงที่เกษตรกรต้องการใช้ปุ๋ยจริง

อย่างไรก็ดี กมธ.จะคอยติดตามให้หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงษริษัทที่เข้าร่วมโครงการมาชี้แจงให้ข้อมูลเป็นระยะ ๆ เพราะไม่อยากให้ชาวนาถูกเอาเอาเปรียบจากนายทุนปุ๋ย และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาโครงการที่ใช้เงินของรัฐจำนวนมากมักจะมีอะไรที่ไม่ค่อยดีอยู่เสมอ จึงอยากให้รัฐบาลทำอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ งบประมาณมีความคุ้มค่า และเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง และครอบคลุมความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ กล่าวว่า ล่าสุดวันที่ 16 ก.ค. 2567 กรมวิชาการเกษตร ได้แจ้งผลการตรวจสอบผู้ประกอบการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการกับกรมการข้าวมีจำนวน 189 ราย แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ 184 ราย ผ่านหลักเกณฑ์ 106 ราย ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ 78 ราย ส่วนผู้ประกอบการชีวภัณฑ์มี 5 ราย ผ่านหลักเกณฑ์ 3 ราย ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ 2 ราย ส่วนราคากลางปุ๋ยเคมี และอินทรีย์ ยังไม่แน่ใจว่า ทางกรมการข้าวจะประกาศวันใด

“ในจำนวนผู้สมัคร 189 ราย คาดจะมีสหกรณ์ร่วมด้วย ขณะเดียวกันไม่อยากให้โครงการตัดร้านค้าออกไปจากระบบ จากเดิมบริษัทปุ๋ยที่เข้าร่วมจะมีการซื้อขายปุ๋ยผ่านร้านค้า แต่อยู่มาวันหนึ่งจะให้บริษัทไปทำการค้าตรงกับรัฐบาล ร้านค้าจะมองว่าบริษัทไปแย่งลูกค้า พอจบโครงการนี้ คู่ค้าก็จะเมินเราจากโครงการนี้ ส่วนเรื่องค่าขนส่ง ให้เป็นเรื่องของตัวแทนจำหน่ายที่มีสถานที่เก็บปุ๋ย จะทำให้การขนส่งมีความรวดเร็ว ดังนั้นในเมื่อสหกรณ์มีขีดจำกัด จึงอยากให้ดันร้านค้าเข้าไปช่วยเสริมในการกระจายสินค้า”

ด้านนายเดชา นุตาลัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และอดีตอุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวถึงสาเหตุที่สมาคมชาวนาฯ ให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เป็นผลจากรัฐบาลได้มีมติ ครม. (4 ธ.ค.66) ขอให้ทุกหน่วยงานหลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตรโดยตรงแก่เกษตรกร จึงเป็นที่มาของการไม่มีนโยบายไร่ละ 1,000 บาท

“หากไม่เอาโครงการนี้ชาวนาก็ไม่ได้อะไรเลย แต่เมื่อทางกระทรวงเกษตรฯ มานำเสนอ อย่างน้อยก็ได้ปุ๋ย 10 กระสอบ แต่ถ้าล้มโครงการก็จะไม่ได้อะไรเลย ทางสมาคมฯเห็นว่าเมื่อได้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ควรเอาไว้ก่อน แต่ถ้าชาวนาไม่ร่วมและไม่ซื้อผ่านโครงการนี้ก็สามารถทำได้ ไม่ได้บังคับ แต่เชื่อว่ายังมีกลุ่มชาวนาที่สนใจซื้อผ่านโครงการนี้” นายเดชา กล่าว

ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4010 วันที่ 18-20 กรกฎาคม พ.ศ. 2567