ครม. ถกเครียด “ปุ๋ยคนละครึ่ง” รัฐบาลผวาสะเทือนฐานเสียง

09 ก.ค. 2567 | 12:01 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2567 | 12:57 น.

อินไซด์ ครม. ถก “ปุ๋ยคนละครึ่ง” นานเกือบชั่วโมง นายกฯ คาใจความเหมาะสม หลังลงพื้นที่เจอชาวนา - สส. ขอให้ฟื้นแจกเงินไร่ละ 1,000 บาท ช่วยได้มากกว่า ฟังความเห็นจากวงประชุมครม. จนสุดท้ายได้ข้อสรุป

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 หลังจากเสร็จสิ้นการพิจารณาวาระต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เสนอเข้ามาแล้ว ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงประเด็นการช่วยเหลือชาวนา ผ่านโครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" ซึ่งนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาสอบถามในที่ประชุมครม. โดยใช้เวลาหารือนานเกือบ 1 ชม. โดยมีรองนายกฯ และรัฐมนตรีหลายคนแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เล่าว่า นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามต่อที่ประชุมครม. ถึงโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลที่จะใช้ช่วยเหลือชาวนา ซึ่งจะดำเนินการภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 มีวงเงินงบประมาณรวม 29,980.17 ล้านบาท โดยช่วยเหลือเกษตรกรไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท

เหตุที่นายกฯ หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาถามกลางวงครม. เนื่องจากการลงพื้นที่พบปะชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสานในช่วงที่ผ่านมา ได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน และ สส.ในพื้นที่ว่า ไม่เห็นด้วยกับการผลักดันโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เพราะไม่สามารถช่วยเหลือชาวนาได้เต็มที เมื่อเทียบกับโครงการเก่า นั่นคือ การช่วยเหลือเงินไร่ละ 1,000 บาท หรือ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567 

ด้วยการช่วยเหลือเงินให้กับชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ซึ่งใช้เงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ 5.6 หมื่นล้านบาท นั่นเพราะชาวนาจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในวงเงินที่น้อยกว่าโครงการเดิมกว่าครึ่ง หรือ ได้รับเงินช่วยเหลือในโครงการปุ๋ยคนละครึ่งแค่ครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาทเท่านั้น

 

ภาพประกอบข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล

แหล่งข่าวระบุว่า นายกฯ ได้สอบถามรายละเอียดเรื่องนี้ในที่ประชุมว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร โดยมีรัฐมนตรีหลายคนแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง นำโดยนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรฯ ได้ชี้แจงถึงข้อดีการโครงการนี้หลายกรณี เช่น

การใช้จ่ายงบประมาณผ่านโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” จะช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐได้มากกว่าการแจกเงินไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งจะต้องใช้เงินสูงถึงปีละ 5 หมื่นกว่าล้านบาท ต่างจากโครงการปุ๋ยคนละครึ่งที่จะช่วยเหลือชาวนาในปีการผลิตนี้ ที่มีวงเงินโครงการลงลงเหลือแค่ 29,980 ล้านบาท

อีกทั้งยังเห็นว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่งนี้ จะช่วยให้เงินถึงมือเกษตรกรได้มากกว่าโครงการแจกเงินไร่ละ 1,000 บาท รวมทั้งเมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันยังพบว่า ราคาข้าวได้ปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิมมาก จึงไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินสนับสนุนสูงเท่ากับโครงการเดิม และยังช่วยให้มีเงินเหลือไปทำโครงการอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้ เช่น ภัยแล้ง และน้ำท่วม

ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่งนั้น แหล่งข่าวระบุว่า นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ได้แสดงความเห็นว่าการยกเลิกโครงการแจกเงินไร่ละ 1,000 บาท จะทำให้เสียฐานเสียงจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเปรียบเหมือนกำแพงคอยปกป้องพรรคมาตลอดกลับมาโจมตีภายหลังได้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาการทำทั้งสองโครงการควบคู่กันไป

นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีคนอื่น ๆ แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางแตกต่างกันหลายประเด็น จนท้ายที่สุดที่ประชุมก็ยืนยันถึงการทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งเป็นโครงการที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเห็นด้วยกับการยกเลิกโครงการแจกเงินไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็มีความเห็นสอดคล้องกับแนวทางสนับสนุนปุ๋ยคนละครึ่ง เพราะมองว่า จะช่วยลดภาระงบประมาณรัฐที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนลดลงมากกว่าเดิม 

อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมครม.เสร็จสิ้น นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า นายกฯ ได้หยิบยกเรื่องปุ๋ยคนละครึ่งมาหารือในที่ประชุม ครม. วันนี้ โดยหลังจากครม.ได้เห็นชอบโครงการไปก่อนหน้านี้ ปรากฏว่า ในช่วงที่นายกฯ ลงพื้นที่ตรวจราชการ สส.ในพื้นที่ได้สะท้อนความคิดเห็นของชาวนากลับมา จึงได้นำประเด็นดังกล่าวมาหารือในครม.

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม. หารือ "ปุ๋ยคนละครึ่ง"

 

โดยความเห็นส่วนใหญ่ของชาวนา มองว่า ในปีที่ผ่านมาช่วยเหลือไร่ละไม่เกิน 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ เท่ากับช่วย 20,000 บาท แต่ปีนี้มีโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง โดยช่วยเหลือชาวนาไร่ละไม่เกิน 500 บาทและไม่เกิน 20 ไร่เท่ากับเหลือ 10,000 บาท น้อยลงไปกว่าครึ่ง และยังจ่ายเป็นค่าปุ๋ยเป็นเงินด้วย สส.จึงเป็นกังวลว่าชาวนาจะผิดหวัง 

ดังนั้น ที่ประชุม ครม.จึงมีการถกเถียงกันถึงหลักการและเหตุผลว่าทำไมไม่ทำโครงการไร่ละ 1,000 บาท เหมือนปีที่ผ่านมา จนในที่สุดก็ได้ตกผลึกข้อสรุปว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนชาวนากว่า 4 ล้านกว่าครัวเรือน หรือคิดเป็น 20 กว่าล้านคน โดยที่ผ่านมาในปีการผลิตเดิมราคาข้าวเปลือกมีราคาตกต่ำ ทำให้ชาวนามีรายได้ไม่พอยังชีพ ดังนั้นรัฐบาลจึงออกมาตรการสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาท 

แต่เมื่อถึงปีการผลิตนี้ ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูของการปลูกข้าวนาปี รมว.เกษตรฯ ก็ได้ลงพื้นที่พบปะกับผู้นำสมาชมและองค์กรชาวนา พบว่า ในช่วงการทำนาปรัง ข้าวเปือกเจ้ามีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมตันละ 7,000-8,000 บาท เป็นตันละ 11,000 บาท ด้วยราคาข้าวแบบนี้ทำให้กำไรต่อไร่ของชาวนาปรับเพิ่มขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องจัดทำนโยบายเข้าไปช่วยเหลือเหมือนปีที่ผ่านมา โดยปรับโครงการจากไร่ละ 1,000 บาท มาเป็นปุ๋ยคนละครึ่ง เพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิต แทนการช่วยเหลือด้านราคา

ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯ ยังได้หารือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับการวิจัยสูตรปุ๋ย จนได้สูตรที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวในแต่ละชนิด และสามารถให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นถึง 30-70% ทำให้กระทรวงเกษตรฯ ตัดสินใจทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่งมาแทนโครงการเดิม โดยมีสูตรปุ๋ยต่าง ๆ ให้เลือกถึง 15 สูตร และไม่ได้จำกัดผู้ผลิตที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตลงทะเบียนร่วมโครงการแล้วกว่า 50 บริษัท พร้อมเปิดให้ร้านค้าในพื้นที่เข้าร่วมโครงการด้วย

"ที่ประชุมครม. หารือแล้วเห็นว่า การช่วยครึ่งนี้เป็นคนละเรื่องกับครั้งที่แล้ว จะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเอาปุ๋ยคนละครึ่งมาแทน เพียงแต่รัฐบาลหวังว่า เมื่อทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง โดยใช้ปุ๋ยคุณภาพที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าว เมื่อผลผลิตดี ผนวกกับราคาที่คาดว่ายังดีอยู่ เมื่อถึงช่วงการเก็บเกี่ยวรายได้ต่อไร่ ราคาข้าวที่ดี อาจจะทำให้รัฐบาลไม่ต้องไปออกนโยบายช่วยเหลือเลยก็ได้" โฆษกรัฐบาล ระบุ