“โออาร์”โชว์ผลงาน Q2/67 ทำรายได้ 1.83 แสนล้าน ภาพรวมครึ่งแรกรายได้ลดลง

09 ส.ค. 2567 | 05:06 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2567 | 05:25 น.

โออาร์ เผยผลการดำเนินการไตรมาส 2/67 ทำรายได้ 183,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6,055 ล้าน ขณะภาพรวมครึ่งปีแรกมี่รายได้ลดลงจากกลุ่มธุรกิจ Mobility ลุยขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์ ดันเปิดตัวร้าน “found & found” อีก 10 สาขา รุกธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานของโออาร์ในไตรมาส 2/2567 มีรายได้ขายและบริการ 183,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,055 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ผลดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจ Mobility เพิ่มขึ้น 2.6% กลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพิ่มขึ้น 1.0% จาก ทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ กลุ่มธุรกิจ Global ปรับเพิ่มขึ้น 23.2% ตามปริมาณจำหน่ายน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์และกัมพูชา

“โออาร์”โชว์ผลงาน Q2/67 ทำรายได้ 1.83 แสนล้าน ภาพรวมครึ่งแรกรายได้ลดลง

ส่วนผลการดำเนินการครึ่งแรกของปี 2567 โออาร์มีรายได้ขายและบริการ 361,922 ล้านบาท ลดลง 23,517 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA จำนวน 11,016 ล้านบาท ลดลง 121 ล้านบาท หรือลดลง 1.1% โดยลดลงจากกลุ่มธุรกิจ Mobility

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพิ่มขึ้นจากทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ กลุ่มธุรกิจ Global ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์เป็นหลัก อีกทั้งค่าใช้จ่ายดำเนินงานสุทธิปรับลดลง 6.1 %

นอกจากนี้ ในงวดนี้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ลดลง ส่งผลให้ในครึ่งแรกของปี 2567 OR มีกำไรสุทธิ จำนวน 6,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 528 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.2% คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.52 บาท

“โออาร์”โชว์ผลงาน Q2/67 ทำรายได้ 1.83 แสนล้าน ภาพรวมครึ่งแรกรายได้ลดลง  

ช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาโออาร์ได้จัดตั้งบริษัท OR Health & Wellness (ORHW) เดินหน้ารุกตลาดสุขภาพและความงาม เสริมความแข็งแกร่งด้านไลฟ์สไตล์โดยขยายพอร์ตโฟลิโอสู่ธุรกิจที่นอกเหนือจากน้ำมันให้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายและตอบรับกระแสการดูแลสุขภาพและความงามของผู้บริโภค ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของ OR ที่มุ่งมั่นสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตแบบครบวงจรเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ และได้เปิดตัวร้าน found & found ร้านค้าปลีกด้านความงามและสุขภาพ โดยมีแผนเปิดรวม 10 สาขาในกลางปี 2568 และตั้งเป้าเปิด 500 สาขาในปี 2030 (พ.ศ.2573)

OR ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนา value chain ของธุรกิจกาแฟให้สมบูรณ์เพื่อสร้างความยั่งยืนผ่านการลงมือทำ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการแปรรูปเมล็ดกาแฟให้มีมาตรฐาน พร้อมทั้งเป็นตลาดรับซื้อผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพด้วยระบบราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) ควบคู่ไปกับการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ประกอบอาชีพผู้ผลิตกาแฟ รวมทั้งผลักดันโครงการ Café Amazon Park ที่ จ.ลำปาง เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนา Value Chain ธุรกิจกาแฟเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำอีกด้วย

“โออาร์”โชว์ผลงาน Q2/67 ทำรายได้ 1.83 แสนล้าน ภาพรวมครึ่งแรกรายได้ลดลง

สำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา OR ได้ร่วมกับเวียตเจ็ท ไทยแลนด์ ในการให้บริการน้ำมันมันอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ในเที่ยวบินนำร่องเส้นทาง กรุงเทพฯ – ดานัง ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องไปกับแนวทาง OR SDG โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมิติ "G" หรือ "GREEN" ซึ่งมุ่งสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด และมุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) อันเป็นรากฐานสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย OR 2030 อย่างมีประสิทธิภาพ

“โออาร์”โชว์ผลงาน Q2/67 ทำรายได้ 1.83 แสนล้าน ภาพรวมครึ่งแรกรายได้ลดลง

“ในปีนี้ OR มีแผนเปิดตัวธุรกิจ Community Space รูปแบบใหม่ที่จะไม่ได้มีส่วนประกอบของสถานีบริการน้ำมัน แต่เป็นการใช้ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดพื้นที่บนพื้นที่ที่มีศักยภาพนอก PTT Station เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตอบโจทย์ด้านไลฟ์สไตล์ สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของ OR ที่มุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์ โดยมีแผนเปิดตัว Community Space แห่งแรกในเร็ว ๆ นี้”

ด้าน นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) (PTT) เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการบริษัท Lotus Pharmaceutical Company Limited (Lotus) ในฐานะบริษัทย่อยของ ปตท. มีมติอนุมัติให้ Lotus เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บริษัท เทวา ฟาร์มา (ประเทศไทย) จํากัด (Teva Thailand)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ได้ดําเนินการชําระเงินและรับโอนหุ้นแล้วเสร็จคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,500 ล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ หรือประมาณ 1,650 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการซื้อหุ้นดังกล่าว ทําให้ Lotus เข้าถือหุ้น Teva Thailand ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของทุนจดทะเบียน

โดยการลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามกลยุทธ์ของ Lotus ที่ต้องการขยายธุรกิจเพื่อเป็นผู้นําในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งนี้ Lotus ดําเนินธุรกิจหลักในการคิดค้นพัฒนา (R&D) ผลิตและจําหน่ายยา มุ่งเน้นยาสามัญ (Generic drugs) ที่ครอบคลุมหลายกลุ่มโรคโดยเฉพาะกลุ่มโรคมะเร็งและกลุ่มโรคระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งการลงทุนนี้จะทําให้ Lotus สามารถต่อยอดและขยายช่องทางการจัดจําหน่ายยาในกลุ่มโรคจักษุวิทยาและกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจไปยังโรงพยาบาลและร้านจัดจําหน่ายยาในประเทศไทยได้มากขึ้น