จากการแพร่กระจายพันธุ์แอย่างรวดเร็วของ "ปลาหมอคางดำ" ซึ่งเป็นเอเชี่ยนสปีชีส์สัตว์ต่างถิ่นที่รุกรานระบบนิเวศ และสร้างความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงสัตว์นำของไทยที่ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมประมงตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำจากประชาชนในสัปดาห์หน้า เคาะราคาที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) พ่วงกับอีกหลายมาตรการเพื่อกำจัดให้สิ้นไปจากแหล่งน้ำ และน่านน้ำทะเลไทยนั้น
ล่าสุด นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทางสมาคมฯอยู่ระหว่างร่างหนังสือเพื่อยื่นเสนอต่ออธิบดีกรมประมงในสัปดาห์หน้า ถึงข้อเสนอแนะแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด และการรุกรานของปลาหมอคางดำ โดยจะนำเสนอโครงการส่งเสริมเลี้ยงปลากะพงในบ่อกุ้งร้าง หรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำที่หยุดเลี้ยง โดยใช้ปลาหมอคางดำเป็นอาหาร (เหยื่อปลา)
ทั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อ 1.ลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำ 2.สามารถสร้างรายได้จากการขายปลากะพงเมื่อเลี้ยงได้ขนาดตลาด และเป็นอาหารในครัวเรือน 3.สามารถจับปลาหมอคางดำมาปรุงอาหารเป็นแหล่งโปรตีนในครัวเรือนได้ และ 4.เป็นการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกร
วิธีการดำเนินการคือ 1.ขอการสนับสนุนพันธุ์ปลากะพงขนาด 4-6 นิ้ว จำนวน 1 ล้านตัว ให้เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯจำนวน 2,000 คน ๆ ละ 500 ตัว ในพื้นที่ 16 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ชลบุรี ตราด ฉะะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา และ 2.สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือจับปลาหมอคางดำ เช่น ข่าย,แห หรือเครื่องมืออื่นที่เหมาะสม จำนวน 2,000 ชุด
กลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่มีบ่อว่าง เป็นผู้ล่าจับปลาหมอคางดำ มาเป็นอาหารปลากะพง 2,000 คน ในพื้นที่ 16 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาด
ทั้งนี้จะขอรับการการสนับสนุนงบประมาณจากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 12 ล้านบาท เพื่อใช้ในการ 1.เป็นค่าลูกพันธุ์ปลากะพงขนาด 4-6 นิ้ว ตัวละ 10 บาท จำนวน 1 ล้านตัวเป็นเงิน 10 ล้านบาท
2.เป็นค่าอุปกรณ์เครื่องมือจับปลาหมอคางดำ เช่น ข่าย ,อวน,แห จำนวน 2,000 ชุด ๆ ละ 1,000 บาท เป็นเงิน 2 ล้านบาท
“ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้คือ1.สามารถจับปลาหมอคางดำ ตลอดระยะเวลาโครงการฯ (1ปี) ได้ไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านตัว (2,000-3,000 ตัน) 2.สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรได้ไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท 3.เกษตรกรมีความรู้และความเข้าใจถึงผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้ง เพื่อเป็นการการป้องกันและเฝ้าระวังไม่ให้ปลาหมอคางดำ เข้ามาแพร่พันธุ์ในบ่อเลี้ยงของตนเอง โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ถึงกันยายน 2568 ผู้รับผิดชอบโครงการฯคือ กรมประมงในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้จากที่รัฐบาลจะใช้เงินรับซื้อปลาหมอคางดำ กก.ละ 15 บาท โดยใช้งบถึง 50 ล้านบาท แต่ข้อเสนอนี้จะใช้เงินเพียง 12 ล้านบาท แต่จะสามารถสร้างอาชีพและรายไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาทถือมีความคุ้มค่า