"ธรรมนัส" ส่ง 3 มาตรการอุ้มราคายาง 4.5 หมื่นล้าน ฝากรัฐมนตรีใหม่สานต่อ

26 ส.ค. 2567 | 07:17 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ส.ค. 2567 | 09:46 น.

“ธรรมนัส” เผยผลประชุม กนย. รับทราบ 3 มาตรการอุ้มราคายาง 4.5 หมื่นล้าน ฝากรัฐมนตรีใหม่สานต่อ พร้อมเห็นชอบตามที่สมาคมสหพันธ์ฯ แจ้งข่าวดี ภาษีปลูกยาง ก.คลัง ถอยแล้ว ปรับลดลงจาก 80 ต้น/ไร่ เป็น 25 ต้น/ไร่ พร้อมรับข้อเสนอ ใช้พันธุ์ยางใหม่ - ฮอร์โมนเพิ่มผลผลิต ดันรายได้เพิ่ม 2 เท่า

วันที่ 26 สิงหาคม 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ว่า วันนี้มี 4 วาระ เริ่มจากวาระที่ 1 ประธานแจ้งให้ทราบ วาระที่ 2 เพื่อทราบ วาระที่ 3 เป็นวาระเพื่อพิจารณา และวาระที่ 4 วาระพิจาณา ซึ่งประกอบด้วย

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า

เรื่องที่ 1 ขออนุมัติโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินสินเชื่อ 3 หมื่นล้านบาท 2.ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางและขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง

\"ธรรมนัส\" ส่ง 3 มาตรการอุ้มราคายาง 4.5 หมื่นล้าน ฝากรัฐมนตรีใหม่สานต่อ

3.ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ  10,000 ล้านบาท 4.ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงินสินเชื่อ 5,000 บาท รวม 45,000 ล้านบาท

\"ธรรมนัส\" ส่ง 3 มาตรการอุ้มราคายาง 4.5 หมื่นล้าน ฝากรัฐมนตรีใหม่สานต่อ

“โครงการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณข้ามปี ผมให้มีการประชุมครั้งต่อไป หลังจากที่ได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว ก็อยากจะฝากถึงพี่น้องเกษตรกรว่า กระทรวงเกษตรฯ ยังคงนโยบายทิศทางเดิมซึ่งเป็นแนวทางของผม “

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการ กนย. กล่าวว่า  ทางสมาคมได้เสนอไป ซึ่งทางรัฐมนตรีฯ ได้แจ้งว่าอยู่ในช่วงรักษาการ แต่ได้สั่งเลขานุการ ของ กนย. ให้นำไปเสนอประธาน กนย.คนต่อไป แล้วท่านจะช่วยติดตามในเรื่องที่ทางสมาคมได้นำเสนอในวันนี้  ได้แก่ เรื่องการเปลี่ยนพันธุ์ยาง จาก RM600 ซึ่งมีผลผลิตต่ำ 250 กิโลกรัม(กก.)ต่อไร่ต่อปี ให้เปลี่ยนยาง เป็นยางพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 ( RRIT 251)  มีผลผลิต 470 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เป็นการเพิ่มผลผลิตยางพาราขึ้นมาเท่าตัว เกษตรกรก็ไม่ต้องเดือดร้อน และรัฐบาลก็ไม่ต้องมาแทรกแซงราคา

\"ธรรมนัส\" ส่ง 3 มาตรการอุ้มราคายาง 4.5 หมื่นล้าน ฝากรัฐมนตรีใหม่สานต่อ

ส่วนยางพารา พันธุ์ PRIM 600 ที่ให้ผลผลิตต่ำ แต่ไม่อาจจะโค่นได้ก็ให้ใช้สารอีทีฟอนพลัสฮอโมนตั ซึ่งมีงานวิจัยรับรองแล้ว และกยท.ก็ได้สาธิตเป็นแปลงตัวอย่างมาแล้ว แต่ไม่ทั่วถึง ให้เพิ่มน้ำยางเลียนโมเดลประเทศมาเลเซีย  และสวนยางที่กระทรวงการคลังกำหนดเก็บภาษีที่ปลูกยางต่ำกว่า 80 ต้น/ไร่ ปรับลดลงลงเป็น 25 ต้น/ไร่ ตาม พ.ร.บ.การยางฯ และได้นำเสนอให้นายอำนวย ปะติเส ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นกรรมการใน กนย. ด้วย 

\"ธรรมนัส\" ส่ง 3 มาตรการอุ้มราคายาง 4.5 หมื่นล้าน ฝากรัฐมนตรีใหม่สานต่อ

"ที่ประชุมได้รับหลักการและให้เลขานุการบรรจุรายงานนำเสนอประธานที่ประชุม กนย.ในครั้งต่อไป และท่านรับปากว่าจะช่วยติดตามให้ ซึ่งทางสมาคมก็ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ  ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าท่านมีฝีมือ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ราคายางไม่เคยราคาต่ำกว่าต้นทุนเลยในช่วงที่ท่านเป็นรัฐมนตรี นี่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งผมก็ได้ขอบคุณท่านในที่ประชุมด้วย” นายอุทัย กล่าวในตอนท้าย