กยท.-ธ.ก.ส.เคาะ “โฉนดต้นไม้ยางพารา” ค้ำประกันกู้เงินได้ 3.5 หมื่นบาท/ไร่

15 ก.ค. 2567 | 00:00 น.

“เพิก” ประธานบอร์ด แจ้งข่าวด่วน ! “กยท. – ธ.ก.ส.” เคาะแล้ว โฉนดต้นไม้ยางพารา 70 ต้น ต้นละ 500 บาท ใช้ค้ำประกันเงินกู้ได้ 3.5 หมื่นบาท/ไร่ สนองนโยบายรัฐมนตรีเกษตรฯ แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน อัพเดทล่าสุดมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียน 18 ล้านไร่ คาดสร้างมูลค่าเพิ่ม 6.3 แสนล้าน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ “การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสวนยางพารา และการจัดทำโฉนดต้นยางพารา” มีร้อยเอก ธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี  ทั้งนี้ได้มีนโยบายจัดทำโครงการโฉนดต้นไม้สำหรับต้นไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไม้ยืนต้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต่อยอดอาชีพด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

นายเพิก เลิศวังพง

นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทาง กยท.ได้ร่วมมือกับ ธ.ก.ส. เพื่อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการบรรจุต้นยางพารา ให้เป็นไม้ชนิดหนึ่งในระบบค้ำประกันเงินกู้ และจัดทำโฉนดต้นยางพารา เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้จาก ธ.ก.ส.ซึ่งเกษตรกรที่สามารถขอรับโฉนดต้นยางจะต้องขึ้นทะเบียนกับ กยท.และมีสวนยางตั้งอยู่บนดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม แปลงทรัพย์สินให้เป็นทุนสำหรับประกอบอาชีพ

 

โดยใช้โฉนดต้นยางพาราเป็นเอกสารประกอบการขอรับบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ให้บริการ โดย กยท.จะเป็นผู้ประเมินราคาต้นยางพาราที่จะใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส.และจัดทำโฉนดต้นยางพาราเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อของ ธ.ก.ส.ทุกครั้ง

ภาพรวมสถิติการจดทะเบียนไม้ยืนต้นค้ำประกันเงินกู้

 

ทั้งนี้ได้มีการทำแปลงต้นแบบการทำโฉนดยางพารา ร่วมกับทางการยาง ที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีการกำหนด

1.พิกัดแปลง

2.รูปแปลงและพื้นที่แปลง

3.จำนวนต้นยางในแปลง

4.พิกัดต้นยางรายต้น

5.เส้นรอบวง+ความสูงต้นยางในแปลง

 

กระบวนการทำงาน

 

6.ปริมาตรเนื้อไม้ยางในแปลง

7.ภาพสามมิติต้นยางในแปลง

8.ภาพดาวเทียมพิกัดแปลง

 

เทคโนโลยี Remote Sensing

โดยทั้ง 8 ข้อ กยท.มีการใช้เทคโนโลยี Remote Sensing  เป็นเครื่องมือดาวเทียมที่ใช้หาข้อมูลของไม้ในการคำนวณน้ำหนักและปริมาตร และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางและเส้นรอบวงตามความสูงที่กำหนดแม่นยำ นอกจากนี้ยังมีการใช้ข้อมูลและขอบเขตทางด้านภูมิสารสนเทศ (GIS) ของพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นรายแปลง รายต้น และข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายความละเอียดสูงด้วยอากาศยานไร้คนขับรายแปลงและพิกัดแปลง เพื่อทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำมากที่สุด

นายเพิก กล่าวว่า แปลงและโมเดลต้นแบบข้างต้น จะเสนอให้ทางรัฐมนตรีได้พิจารณาว่าจะมีอะไรที่จะต้องแก้ไข และปรับปรุงเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวสวนยาง ตามนโยบายเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต่อยอดอาชีพด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่อยากให้มีข้อผิดพลาด และอยากให้ทุกฝ่ายได้เห็นพ้องต้องกันก่อน

 

โมเดลต้นแบบ "โฉนดต้นยางพารา"

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา กยท. ทำงานร่วมกับ ธ.ก.ส. ได้มีการกำหนดต้นยาง จำนวน 70 ต้นต่อไร่ ต้นละ 500 บาท สามารถค้ำประกันเงินกู้ได้ 3.5 หมื่นบาทต่อไร่ ตามเกณฑ์ของกรมธนารักษ์ มูลค่าต้นไม้ 30-40% และต้องมีหน้าไม้ ขนาด 6 นิ้วขึ้นไป จากพื้นที่สวนยางทั้งหมดทั่วประเทศ 22 ล้านไร่ ปัจจุบันมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนกับ กยท.1.6 ล้านครัวเรือน (6 ล้านคน) มีพื้นที่ 18 ล้านไร่ เท่ากับจะมีการสร้างมูลค่าถึง 630,000 ล้านบาท