“อิรัก” ประเทศที่ใครหลายคนครั่นคร้ามว่าเป็นประเทศที่ยังไม่มีความสงบจากภาวะสงคราม แต่ ณ ปัจจุบัน ประเทศอิรัก ในภาพจำของใครหลายคนกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ประเทศได้กลับคืนสู่ความสงบและมุ่งสู่การฟื้นฟูและพัฒนา พร้อมเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้าไปสำรวจและทำการลงทุนในหลากหลายธุรกิจ ภายใต้ความหวังในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของประเทศให้โลกได้เห็นอีกครั้ง
ไม่นานมานี้ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้ประกอบการไทย ในกลุ่มธุรกิจเป้าหมายทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และก่อสร้าง รวมทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางเยือนประเทศอิรัก และภูมิภาคเคอร์ดิสถาน เพื่อสำรวจลู่ทางการค้า การลงทุน และเจรจาธุรกิจ พร้อมทั้งได้พบปะผู้นำและหัวหน้าหน่วยงานสำคัญ เพื่อเปิดประตูแห่งโอกาสเข้าไปทำการค้าและการลงทุนให้ประเทศนี้
นายสุภาค โปร่งธุระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ในฐานะหัวหน้าคณะการเดินทางเยือนอิรัก เปิดเผยว่า การนำคณะเดินทางมาสำรวจลู่ทางการค้า และการลงทุนครั้งนี้ ได้เริ่มต้นจากกรุงแบกแดดก่อน เพราะถือเป็นจุดศูนย์กลางความเจริญและการบริหารที่กำลังจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต จากนั้นจึงพาขึ้นมาทางเหนือคือ ภูมิภาคเคอร์ดิสถาน ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่กำลังพัฒนา
โดยการนำคณะเอกชนมาครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของไทยได้มีช่องทางการขยายตลาด และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลกับการผลักดันการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อให้อนาคตได้พิจารณาการตั้งฐานการผลิตเพิ่มเติมในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะอิรักเป็นหนึ่งประตูสำคัญในการไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่มีศักยภาพ และคนที่นี่ก็กำลังเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันขนาดเศรษฐกิจก็เริ่มขยายตัวดีขึ้นด้วย
สำหรับมุมมองของภาคเอกชนที่ร่วมคณะเดินทางมาครั้งนี้ หลายคนสะท้อนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นสำคัญนั่นคือ การได้มาเห็นสภาพจริงของพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้หลายรายกังวลเรื่องของความปลอดภัย แต่เมื่อได้ลงพื้นที่ก็พบว่าสถานการณ์ภายในประเทศโดยรวมมีความสงบเรียบร้อย ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เคยคิดไว้
ขณะที่ภาคเอกชนท้องถิ่นยังแสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในหลายด้าน ทั้งการเกษตร อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม สุขภาพ การก่อสร้าง อุปกรณ์เครื่องใช้ และของประดับตกแต่งภายในบ้าน มากไปกว่านั้นยังรวมถึงโอกาสในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และภาคบริการ ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น
ดร.นพวัชร เจริญสินพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์ แคนเนอรี่ จำกัด ผู้ผลิตผลิตปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแมกเคอเรล และสับปะรดกระป๋อง ยอมรับว่า ก่อนจะมาก็ไม่แน่ใจเรื่องสถานการณ์ในอิรัก เพราะกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย แต่เมื่อได้สอบถามไปยังลูกค้าที่ร่วมทำธุรกิจที่นี่ก็ยืนยันว่าปลอดภัย จึงได้ตัดสินใจมาและเห็นว่าปลอดภัย และพอมาเห็นด้วยสายตาตัวเอง จึงยอมรับเลยว่า เป็นโอกาสที่ดี และเห็นถึงโอกาสที่บริษัทจะเข้ามาขยายตลาดมากขึ้น
สำหรับ สตาร์ แคนเนอรี่ นั้น ที่ผ่านมาได้ส่งออกสินค้ามายังอิรัก ทั้งกรุงแบกแดดและเคอร์ดิสถาน มา 2-3 ปีแล้ว โดยการเดินทางมาร่วมคณะในครั้งนี้ เหตุผลสำคัญคือต้องการมาต่อยอดธุรกิจ รวมถึงได้มาเห็นสภาพจริง ๆ ของพื้นที่ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร พร้อมกับการหาลูกค้าใหม่ ๆ เพื่อขยายศักยภาพของบริษัท เพราะรู้สึกว่า ชาวอิรักมีกำลังซื้อและกำลังมีแนวโน้มเติบโต
“จากการได้พบกับลูกค้าที่นี่ก็ดีใจที่ได้พบกันครั้งแรก เพราะลูกค้าไม่เคยเจอกับเรามาก่อน ซึ่งเชื่อว่า การทำตลาดที่นี่การพบหน้ากันจะช่วยสร้างความมั่นใจและต่อยอดตลาดด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ดีมากยิ่งขึ้น และจะช่วยให้อยู่กันไปยาว ๆ และเชื่อมั่นว่าสินค้าของไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง ยิ่งประทับตราว่า Product of Thailand ยิ่งถือเป็น Soft Power กลุ่มอาหาร เพราะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของเราให้กับตลาดได้รับรู้และเชื่อมั่นในสินค้าของประเทศไทยว่ามีคุณภาพจริง ๆ”
นายโมฮัมหมัด อาลี ข่าน ประธานบริษัท ซี.เค. โฟรเซน ฟิช แอนด์ ฟู้ด จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดอิรักมีศักยภาพสูงสำหรับปลากะพงและปลายี่สก ซึ่งบริษัทเคยส่งออกไปยังประเทศนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว และได้กลับมาเยือนเมืองเออร์บิลอีกครั้งเมื่อ 6 ปีก่อน รวมถึงได้พบปะลูกค้าที่ดูไบ การเดินทางมาแบกแดดในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ซึ่งเขาพบว่าตลาดที่นี่มีความพร้อมและน่าสนใจมากกว่าที่คาดไว้
"ในอดีตเราต้องรับเงินผ่านทางจอร์แดน แต่ปัจจุบันสามารถทำธุรกรรมการเงินโดยตรงจากอิรักได้แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดี" นายข่านกล่าว พร้อมชี้ว่า ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่ตลาดในอิรักเอง แต่เป็นเรื่องของการทำงานที่ต้องการการสนับสนุนที่มากขึ้นจากกรมประมง เนื่องจากการดำเนินการด้านเอกสารยังมีความล่าช้า เนื่องจากจำนวนบุคลากรที่จำกัด
อย่างไรก็ตาม นายข่านย้ำว่า อิรักเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าประเภทปลาน้ำจืดและกุ้ง โดยไม่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิภาค แม้จะมีสถานการณ์ในอิสราเอลและเลบานอนก็ตาม
นางสาวมณฑิตา สุขสง่า กรรมการบริหาร บริษัท มาดามดู อินเตอร์ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตนำเข้าส่งออกและจำหน่ายสินค้าแปรรูปทางการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทส่งออกข้าวมายังภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ แต่ยังไม่เคยมาบุกตลาดอิรัก การเดินทางมาครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยโอกาสในการเปิดตลาดค้าข้าว หลังเห็นศักยภาพของอิรักว่าเป็นตลาดสำคัญ นั่นเพราะมีประชากรมากกว่า 40 ล้านคน และคนส่วนใหญ่ยังนิยมกินข้าวเป็นหลัก
“มาดามดู ยังไม่เคยส่งออกข้าวมายังอิรัก เลยอยากมาดูว่าเขามีศักยภาพในการนำเข้ามากแค่ไหน และก็พบว่าอิรักยังมีศักยภาพ เพราะมีความต้องการนำเข้าข้าวในปริมาณสูง และเป็นผู้นำเข้าข้าวไทยอันดับต้น ๆ ด้วย ซึ่งข้าวไทยก็มีบทบาทในตลาดอิรักมาก โดยอิรักนำเข้าข้าวไทยมานานหลายสิบปี แม้จะหยุดไปพักหนึ่ง แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาก็กลับมาทำการค้าอีกครั้ง ล่าสุดช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 ในภาพรวมของไทยก็ส่งข้าวมายังอิรักแล้วกว่า 2 แสนตัน”
ส่วนการเปิดตลาดนำเสนอสินค้าและเจรจาธุรกิจที่กรุงแบกแดด และเออร์บิล พบว่า ทั้งสองตลาดมีศักยภาพทั้งคู่ โดยเฉพาะเออร์บิล มีความต้องการสินค้าเกษตรมาก จึงเป็นโอกาสสำคัญกับการทำตลาดเพิ่มเติม โดยจากการพูดคุยกับเอกชนบางเจ้า ก็ขอให้บริษัทนำเสนอราคาเข้ามาพิจารณาด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบริษัทเองก็ต้องกลับไปดูข้อมูลอื่น ๆ เช่น พิธีการทางศุลกากร และเงื่อนไขการชำระเงิน (Terms of payment) ให้ครบถ้วนเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง
นายกรินทร์ โรจนกิจเกษตร ผู้จัดการตลาดตะวันออกกลางและซีแอลเอ็มวี บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า บริษัทได้เริ่มต้นทำตลาดในอิรักมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมองว่าตลาดนี้มีศักยภาพสูงสำหรับสินค้าประเภทเครื่องดื่ม เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูงและเปิดกว้างสำหรับสินค้าที่มีความแปลกใหม่ โดยเฉพาะในเมืองสำคัญ เช่น แบกแดดและเออร์บิล ซึ่งมีประชากรหนาแน่นและมีกำลังซื้อสูง
สำหรับการตอบรับจากทั้งแบกแดดและเออร์บิลมีความแตกต่างกันเล็กน้อย อันเนื่องมาจากลักษณะของตลาดและผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งที่ทั้งสองเมืองนี้มีเหมือนกันคือความสนใจในสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าที่เน้นคุณภาพ มีเอกลักษณ์ และความแปลกใหม่ การทำงานร่วมกับนักธุรกิจท้องถิ่นช่วยให้เราได้เห็นถึงความต้องการที่หลากหลายของตลาด ซึ่งจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาดให้เฉพาะเจาะจงตามแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้หลังจากที่ได้สำรวจตลาดอิรักแล้ว บริษัทเล็งเห็นว่าการวางแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญ การสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับพันธมิตรทางธุรกิจท้องถิ่น และการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพเพื่อครอบคลุมตลาดให้ได้มากที่สุด ถือเป็นการบ้านสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อไป และผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าสู่ตลาดอิรัก ก็แนะนำให้ศึกษาตลาดและผู้บริโภคอย่างละเอียดด้วย
นายกระสุน สกุลโพน ผู้จัดการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา บริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เผยว่า แม้เอสซีจีจะมีฐานลูกค้าในภูมิภาคตะวันออกกลางอยู่แล้ว แต่ตลาดอิรักยังถือเป็นตลาดใหม่ ซึ่งการเข้าร่วมงาน Business Matching ที่แบกแดดครั้งนี้ เอสซีจีได้พบกับลูกค้าที่มีศักยภาพหลายราย โดยเฉพาะในด้านการก่อสร้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าหลักของบริษัท และยังมีลูกค้าบางรายที่ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์กระดาษอีกด้วย
“เป้าหมายหลักในการเข้าร่วมงานครั้งนี้คือการหาพาร์ตเนอร์ในหลายๆ อุตสาหกรรม การที่ได้พบปะผู้คนจากหลากหลายวงการนับเป็นความสำเร็จที่สำคัญ แม้ว่าผู้ที่พบเจออาจจะไม่ใช่ลูกค้าในทันที แต่การสร้างความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือในอนาคตถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยโอกาสในตลาดอิรักนั้นมองว่าเห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ามีดีมานด์จริงสำหรับสินค้าของเอสซีจี”
แต่อย่างไรก็ดีการจะเข้ามาลงทุนก็ต้องพิจารณาข้อมูลประกอบเช่น ต้นทุนการขนส่ง หรืออาจพิจารณาเปลี่ยนแหล่งที่มาของสินค้า เขายังระบุเพิ่มเติมว่าตลาดอิรักมีความท้าทายในบางประเด็น โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร เนื่องจากมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่พบเจอไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ซึ่งส่งผลให้การหาพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นหรือการมีลูกค้าประจำในประเทศนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
“การที่รัฐบาลไทยจัดโครงการนี้ขึ้นทำให้ภาคเอกชนได้มาสัมผัสตลาดจริง เจอลูกค้าด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยต่อยอดธุรกิจได้มากขึ้น แม้กระทั่งบริษัทอย่างเอสซีจีที่ยังไม่เคยมีลูกค้าในอิรัก ก็ได้พบลูกค้าที่มีความสนใจหลายราย โดยการมาเห็นด้วยตาตนเองทำให้มั่นใจได้ว่าตลาดนี้ยังคงมีโอกาสทางธุรกิจที่ดี”
นางสาวชนิดา หทัยพันธลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี.อาร์.ยูเนี่ยน จำกัด หรือ VRH ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สแตนเลส โดยมีสินค้า เช่น ก๊อกน้ำ ฝักบัว และสายฉีดชำระ ระบุว่า การเดินทางมาร่วมคณะโรดโชว์ที่อิรัก – เคอร์ดิสถาน ครั้งนี้ เห็นว่า โอกาสน่าจะขยายตัวได้อีกมาก จากการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ในอิรักที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งการได้พบปะพูดคุยกับภาคธุรกิจที่กรุงแบกแดด และที่เมืองเออร์บิล ส่วนใหญ่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพเป็นหลัก แต่ก็มีคู่แข่งจากประเทศจีน ที่มีราคาถูกกว่า แต่อย่างไรก็ดีจากการพูดคุยก็ยืนยันถึงคุณภาพว่าเมื่อสินค้ามีคุณภาพก็จำเป็นที่จะต้องมีราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งทางเอกชนท้องถิ่นก็เข้าใจ
ทั้งนี้ในการนำเสนอสินค้าและจับคู่ธุรกิจนั้น ก็มีเอกชนท้องถิ่น ประมาณ 2 รายที่น่าสนใจ เจ้าหนึ่งเขาทำแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งบริษัทสามารถทำเป็น OEM ให้ได้ ส่วนอีกเจ้าเป็นเจ้าใหญ่ที่ผ่านมาได้ศึกษาข้อมูลของลูกค้ามาแล้ว และได้ให้ทางสถานทูตเชิญมาร่วมงานเพื่อพบปะหารือ ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนของที่นี่ได้ เพราะรายนี้ได้นำเข้าสินค้าแบรนด์มาจากยุโรปอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทเราจะติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
ภก.ยศนนท์ พัฒนศรีโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ยูไนค์ ไบโอซูติกส์ จำกัด โรงงานผลิตสกินแคร์และอาหารเสริม กล่าวว่า ได้นำผลิตภัณฑ์ชื่อ "คาลิสซี" ซึ่งเป็นสกินแคร์ที่พัฒนาขึ้นมาใช้กับผู้หญิงผู้ชายวัยทำงานช่วงอายุ 25-40 ปี มาทดลองตลาด หลังจากทดลองตลาดในโอมานมาแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี
ทำให้เห็นถึงศักยภาพของสินค้ากลุ่มนี้ในการทำตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง และเชื่อว่าอิรักเป็นตลาดที่มีโอกาสสูง โดยมีเอกชนให้ความสนใจสอบถามเรื่องราคา การทำตลาดและสนใจเรื่อง OEM เนื่องจากในอิรักไม่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ จึงได้รับความสนใจเรื่อง OEM เพื่อมาทำแบรนด์ในประเทศของตนเอง
ด้าน น.ส.มนสิณีย์ สัตยารักษ์ รรมการผู้จัดการ Fashionwise Venue Thailand ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและสปา กล่าวว่า ภูมิภาคตะวันออกกลาง มีศักยภาพด้านสินค้าสุขภาพที่ผ่านมามีประสบการณ์ในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในซาอุดีอาระเบียและดูไบ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน
เช่นเดียวกับ น.ส.บุณยวีร์ วิภาศิริวรรธน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ Fashionwise Venue Thailand แบ่งปันประสบการณ์การเยือนอิรักเป็นครั้งแรก โดยกล่าวว่า ภาพลักษณ์ของอิรักที่เคยคิดไว้ว่าอาจไม่ปลอดภัย ได้เปลี่ยนไปหลังจากได้เห็นด้วยตาตนเอง อิรักเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการตลาดสูง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าบิวตี้จากประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามทั้งสามรายเห็นพ้องกันว่า ตลาดอิรักมีศักยภาพและโอกาสที่ดี แม้ว่าจะมีความท้าทายในด้านการสื่อสารและโลจิสติกส์ รวมถึงกฎเกณฑ์ที่ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงผู้บริโภคในอิรักและการสร้างความสัมพันธ์กับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถขยายตลาดในภูมิภาคนี้ได้
อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนจากภาครัฐในการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะในด้านโลจิสติกส์และการเปิดโอกาสในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้สินค้าไทยสามารถเข้ามาทำตลาดในอิรักได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย