เปิดประตูธุรกิจสู่ “อิรัก” ปักธงสินค้าเด่นห้ามพลาดโอกาสทอง

01 ก.ย. 2567 | 23:47 น.

เปิดประตูธุรกิจสู่ “อิรัก” ประเทศยักษ์หลับแห่งตะวันออกกลาง หลังพบโอกาสทองหลายอย่างของ “สินค้าไทย” ที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดได้ เนื่องจากอิรักกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูประเทศหลังผ่านพ้นช่วงสงคราม

KEY

POINTS

  • เจาะโอกาสทางธุรกิจ เปิดประตูสู่ “อิรัก” และเคอร์ดิสถาน แห่งตะวันออกกลาง กำลังต้อนรับนักลงทุน นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ
  • โอกาสทอง “สินค้าไทย” บุกตลาดอิรัก หลังรัฐบาลอิรัก กำลังเร่งหาทางพลิกโฉมประเทศต้อนรับต่างชาติ ภายหลังผ่านพ้นช่วงภาวะสงคราม
  • เช็คลิสต์สินค้าเด่นของไทย กับโอกาสเข้ามาทำตลาดในอิรัก รวมทั้งบริการประเภทต่าง ๆ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมรายละเอียดแบบเจาะลึก

โอกาสทางธุรกิจใน “ตลาดอิรัก” หนึ่งในตลาดตะวันออกกลางแห่งใหม่ที่มีความน่าสนใจและพร้อมต้อนรับนักลงทุนจากต่างชาติ เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศภายหลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยกลำบากจากภาวะสงครามที่กินเวลามาอย่างยาวนาน โดยในปัจจุบันนี้ รัฐบาลอิรัก กำลังเร่งหาทางพลิกโฉมประเทศ เพื่อก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศเนื้อหอม และพยายามหาทางดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในหลากหลายธุรกิจ

โอกาสที่กำลังรออยู่ภายภาคหน้านับว่า “น่าจับตา” เป็นอย่างยิ่ง เพราะตลาดอิรัก กลายเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ จากสภาพเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวสูงถึง 7% อีกทั้งยังมีกำลังแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นจึงเป็นโอกาสทองสำหรับนักลงทุนไทย ต้องหันมามองหาตลาดอิรัก ก่อนที่จะพลาดโอกาสครั้งสำคัญครั้งนี้ไป

นายสุภาค โปร่งธุระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน เปิดเผยระหว่างการเดินทางนำคณะผู้ประกอบการไทย สำรวจช่องทางการค้า การลงทุน และเจรจาธุรกิจ ณ ประเทศอิรัก แลถภูมิภาคเคอร์ดิสถาน ว่า ตลาดอิรัก ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยที่อยากหาช่องทางในการลงทุนต่างประเทศ เพราะเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง และปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เปิดประตูเอาไว้ให้แล้ว

 

นายสุภาค โปร่งธุระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน

 

“ความน่าสนใจตอนนี้ คือ ทั้งประเทศอิรัก รวมไปถึงเคอร์ดิสถาน มีความต้องการฟื้นฟูประเทศหลังผ่านสงครามมายาวนาน นั่นจึงทำให้เห็นว่า เมื่อใครมาอิรักตอนนี้ จะเห็นการก่อสร้างกระจายอยู่ทั่วบนที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นโอกาสของหลายธุรกิจที่จะเข้ามาเปิดตลาดที่อิรัก ขอแค่หิ้วกระเป๋ามาคุย มาพบในพื้นที่ โดยกระทรวงการต่างประเทศก็เปิดประตูไว้ให้แล้ว ถ้าอยากเข้าประตูไหน หรือต้องประสานหน่วยงานใด ก็พร้อมสนับสนุน” นายสุภาค ยืนยัน

ความน่าสนใจของตลาดอิรัก

สำหรับความน่าสนใจของตลาดอิรักนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า ปัจจุบัน อิรักถือว่าเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และการประมง โดยอุตสาหกรรมหลักส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การผลิตและกลั่นน้ำมัน อะลูมิเนียม และปุ๋ย

ส่วนสินค้าส่งออกที่สำคัญ น้ำมันดิบ น้ำมันกลั่น ทองคำ ปิโตรเลียมโค๊ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแอโนดในแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติ โดยตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญ นั่นคือ อินเดีย จีน กรีซ เกาหลีใต้ และอิตาลี

ขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ น้ำมันกลั่น อุปกรณ์กระจายเสียง รถยนต์ อัญมณี และ ยารักษาโรค โดยมีตลาดนำเข้าสินค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี จีน อินเดีย และเยอรมัน 

โดยข้อมูลการค้า ระหว่างไทยและอิรัก ล่าสุดในปี 2565 อิรักเป็นคู่ค้าลำดับที่ 51 ของไทย โดยมีปริมาณการค้าระหว่างไทยกับอิรัก มีมูลค่า 1,018 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยฝ่ายไทยส่งออกประมาณ 1,017 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าเพียง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอิรัก คือ ข้าว ส่งออก 1,600,163 ตัน ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอิรัก คือ น้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่า 0.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เปิดประตูธุรกิจสู่ “อิรัก” ปักธงสินค้าเด่นห้ามพลาดโอกาสทอง

 

สินค้าน่าสนใจบุกตลาดอิรัก

เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ ธุรกิจของไทยหลายประเภทสามารถหาช่องทางเข้ามาทำการค้า และการลงทุนในประเทศอิรักได้เกือบทุกประเภท โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย สินค้าการเกษตร เครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งมีสินค้าที่จำเป็นทั้ง ฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ตกแต่งภายใน ซึ่งภาคเอกชนของไทยมีศักยภาพอย่างมาก

ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูลสำคัญทางด้านสินค้าแต่ละประเภท เพื่อเป็นโอกาสทางธุรกิจ ดังนี้

สินค้าการเกษตร-อาหาร

ปัจจุบันสินค้าสำคัญที่ประเทศไทยส่งออกไปยังอิรัก คือ ข้าว โดยข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ในช่วงปี 2565-2566 ไทยส่งออกข้าวไปอิรักมีปริมาณและมูลค่ามากอันดับแรก ต่อมาในปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) ปริมาณมากเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย 

สำหรับประเภทข้าวที่ใช้ส่งออก ได้แก่ ข้าวขาว (สัดส่วน 98.5%)  ข้าวหอมมะลิ (สัดส่วน 1.5%) โดยในปี 2565 ส่งออกข้าวไปอิรักจำนวน 1,600,163 ตัน ส่วนปี 2566 ส่งออกปริมาณ 853,784 ตัน มีมูลค่า 419 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2567 (ม.ค. – พ.ค.) ปริมาณ 363,438 ตัน มีมูลค่า 227 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตามการทำตลาดสินค้าด้านการเกษตรของไทยยังมีโอกาสอีกมาก และไม่เพียงเฉพาะสินค้าข้าว แต่ยังมีสินค้าเกี่ยวกับเครื่องดื่ม อาหารกระป๋อง และผลไม้กระป๋อง รวมไปถึงสินค้าฮาลาลของไทย ที่สามารถเข้ามาทำตลาดในอิรักได้มากขึ้น เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการสินค้าคุณภาพที่ดีจากไทยอีกมาก

 

เปิดประตูธุรกิจสู่ “อิรัก” ปักธงสินค้าเด่นห้ามพลาดโอกาสทอง

 

เครื่องปรับอากาศ

ด้วยสภาพอากาศของประเทศอิรักมีสภาพอากาศร้อนและแห้ง โดยในกรุงแบกแดด มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 24°C ถึง 40°C ในขณะที่ทางเหนือของประเทศ เช่น ในเมืองเออร์บิล อุณหภูมิจะเย็นลงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดีในช่วงหน้าร้อน สภาพอากาศจะร้อนจัด

ดังนั้นภายในอาคารจึงมีความจำเป็นต้องมีเครื่องปรับอากาศ ทำให้เป็นโอกาสของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นจะเข้ามาหาโอกาสทางการตลาดที่นี่ได้

ขณะเดียวกันประเทศอิรักกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการฟื้นฟูเมือง หลังจากผ่านพ้นภาวะสงคราม การขยายตัวของเมืองและโครงการก่อสร้างเมืองใหญ่ในอิรัก เช่น กรุงแบกแดด และเมืองบาสรา มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ ที่ต้องการระบบระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ

ธุรกิจก่อสร้าง

ธุรกิจก่อสร้างในประเทศอิรักมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต เนื่องจากอิรักอยู่ในสภาวะสงครามมานาน รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้าง บูรณะสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก โดยมีการประเมินออกมาว่า ในปี 2567 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง คาดว่าจะขยายตัวที่ประมาณ 5.5% และจะมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 5% ในช่วงปี 2567-2570 

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่สำรวจลู่ทางการค้าและการลงทุน ระหว่างวันที่ 25 - 30 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศอิรัก มีการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ทั้งในกรุงแบกแดด และเมืองเออร์บิล ภูมิภาคเคอร์ดิสถาน ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างโรงแรมที่พัก โดยรัฐบาลได้เปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนพัฒนา เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต

ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งภายในอาหาร หรือโรงแรม เช่นเดียวกับโอกาสของการทำตลาดเกี่ยวกับฟอร์นิเจอร์ชนิดต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง

 

เปิดประตูธุรกิจสู่ “อิรัก” ปักธงสินค้าเด่นห้ามพลาดโอกาสทอง

 

ธุรกิจบริการ

สำหรับธุรกิจบริการนับเป็นหนึ่งธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างยิ่งในอนาคตข้างหน้า หลังจากรัฐบาลอิรักเริ่มการฟื้นฟูประเทศและเปิดรับการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะการหาช่องทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักลงท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เออร์บิล ในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน โดยเป็นโอกาสของธุรกิจบริการหลายอย่างที่จะเข้ามาขยายช่องทางการทำธุรกิจได้ที่อิรัก

โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม เนื่องจากในอนาคตอิรักกำลังพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และโรงแรมขึ้นหลายแห่ง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ภาคเอกไทยจะเข้ามาแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาการบริการ และการท่องเที่ยวในอิรัก เช่นเดียวกับธุรกิจบริการอื่น ๆ ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย  

อย่างไรก็ดีรัฐบาลอิรัก และรัฐบาลของภูมิภาคเคอร์ดิสถาน ก็แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับไทย ในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการในประเทศ โดยใช้โมเดลการบริการและการท่องเที่ยวของไทย นำมาประยุกต์ใช้กับประเทศอิรักด้วย 

ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและสุขภาพ

ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมความงามและดูแลผิวในประเทศอิรัก มีโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ ภายหลังอิรักอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นฟูและพัฒนาอย่างรวดเร็ว หลังจากช่วงเวลาที่มีความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนโอกาสทางธุรกิจนี้ คือ ชนชั้นกลางในอิรักกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเพิ่มขึ้นของรายได้และการบริโภค ซึ่งส่งผลให้มีความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงามและการดูแลผิว

ขณที่ผู้บริโภคในอิรักเริ่มมีความตระหนักเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและความงามมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ดูแลผิวคุณภาพสูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติและมีคุณสมบัติในการฟื้นฟูสภาพผิวจากการสัมผัสแดดและมลภาวะ รวมทั้งยังการพัฒนาและขยายตัวของช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น การค้าปลีกสมัยใหม่และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามความน่าสนใจของตลาดอิรัก ยังมีสินค้าและบริการอีกหลายประเภทที่มีแนวโน้มการเติบโตที่สูง โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลการลงทุนได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นหนึ่งประตูแห่งโอกาสในการขยายธุรกิจให้เติบโตได้ในอนาคต