รายงานจากประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เผยถึง มาตรการกำจัดปลาหมอคางดำของจังหวัดว่าได้ผลดี ทำให้จำนวนปลาในจังหวัดลดลง เช่นเดียวกับสมุทรสาคร ที่รายงานว่าปลาหมอคางดำหายไปกว่า 70% รวมทั้งสมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา รายงานว่าพบปลาหมอคางดำในพื้นที่เบาบางลง และยังขับเคลื่อนการจับปลาออกจากระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปลาหมดไป
นายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า โดยปกติชาวบ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้ประโยชน์จับปลาหมอคางดำขายเป็นปลาเหยื่อจับปูและปลามานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ประมงจังหวัดได้ระดมทุกสรรพกำลังเร่งจับปลาหมอคางดำในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในพื้นที่ปากพนังและหัวไทรได้จัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” จับปลาหมอคางดำในคลองสายต่าง ๆ
ทั้งนี้ได้ส่งให้โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว 21 ตัน และในเดือนกันยายนนี้ประมงนครศรีธรรมราชยังจัดสรรงบเพิ่มเติมสำหรับใช้จัดซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาทสำหรับส่งให้สำนักงานพัฒนาที่ดินสำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพและนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรซึ่งคาดว่าจะช่วยกำจัดปลาได้อีกกว่า 18 ตัน
“แนวทางการจำกัดปลาหมอคางดำที่ดำเนินการมาสามารถกำจัดปลาในแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งน้ำหลายแห่งมีปลาหมอคางดำน้อยลง ซึ่งจังหวัดมีแผนจะปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อช่วยกำจัดลูกปลาหมอคางดำในช่วงปลายเดือนนี้ต่อไป” นายกอบศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาครได้ขับเคลื่อน 5 มาตรการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างจริงจังตามแนวทาง “เจอ แจ้ง จับ จบ” บูรณาการความร่วมมือกับประมงพื้นบ้านตั้งกองเรืออวนรุน 33 ลำทำภารกิจล่าปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทั่วทั้งจังหวัดอย่างจริงจัง
ผลจากการใช้เครื่องมือจับปลาที่มีประสิทธิภาพ และได้รับความร่วมมือจากแพปลา และโรงงานปลาป่นช่วยรับซื้อปลาที่จับได้ จนถึงวันนี้สมุทรสาครสามารถกำจัดปลาออกจากแหล่งน้ำแล้วมากกว่า 1.4 ล้านกิโลกรัม สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการกำจัดปลาหมอคางดำของจังหวัดมีประสิทธิผลดี
จากการดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง ทำให้ปลาหมอคางดำในสมุทรสาครหายไปจากแหล่งน้ำในธรรมชาติประมาณ 70% และจังหวัดยังเดินหน้ากำจัดปลาต่ออีก โดยเน้นขยายผลจับปลาในบ่อร้างมากขึ้น
ขณะที่ นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า นับตั้งแต่ประมงจังหวัดสมุทรสงครามคิกออฟ “ลงแขกลงคลอง” มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องมาทั้งหมด 8 ครั้ง จับปลาได้กว่า 9,000 กิโลกรัม โดยครั้งหลังๆ จับได้แต่ปลาตัวเล็กลง สะท้อนให้เห็นว่าการจับปลาช่วยตัดวงจรปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจำนวนน่าจะลดลง
สำหรับจังหวัดสมุทรสงคราม ใช้วิธีการจับปลาด้วยการใช้ “กากชา” ควบคู่กับ “อวนทับตลิ่ง” ซึ่งเหมาะกับบริบทของจังหวัดที่มีลำคลองค่อนข้างเล็กและมีตอมาก พร้อมกับได้บูรณาการทำงานร่วมศูนย์วิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสงครามเพื่อศึกษาความหนาแน่นของปริมาณปลาในหมอคางดำในแหล่งน้ำเพื่อกำหนดแผนการจัดการปลาชนิดนี้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อตัดวงจรปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำให้มากที่สุด
ส่วนนายคนึง คมขำ ประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำในจังหวัดจำนวนไม่หนาแน่นมาก เนื่องจากมีชาวบ้านมาช่วยจับมาบริโภคและใช้ประโยชน์ต่อเนื่องทุกวัน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสนามไชยเขต บางปะกง ประมงจังหวัดยังติดตามสถานการณ์และควบคุมการแพร่กระจายของปลาอย่างใกล้ชิด