วันนี้ (20 สิงหาคม 2567) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ที่ประชุมคณรัฐมนตรี (ครม.) มีมมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” พ.ศ. 2567 - 2570 โดยสำนักงบประมาณ เสนอให้กรมประมงใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับการจัดสรร หรือพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือโอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรแล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการในโอกาสแรกก่อน
ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วยังคงมีความจำเป็นต้องขอใช้งบกลางฯ เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ก็ขอให้กรมประมงจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 และขอให้จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็น เหมาะสม ประหยัดและคุ้มค่าต่อไป
สำหรับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 – กันยายน 2570 กำหนดเป้าหมายการดำเนินการดังนี้
- กำจัดประชาชนกรปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน
- ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัว
- ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริม สร้างความรู้และแรงจูงใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงผลกระทบ ใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำเพื่อกำจัดและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน
- สร้างเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีความพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่รอยต่อและพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
- สร้างงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการประมง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคาดำและสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน
สำหรับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” พ.ศ. 2567 - 2570 มีด้วยกัน 7 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 : การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด
- วัตถุประสงค์ ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำและบ่อสัตว์น้ำในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด
- ตัวชี้วัด กำจัดประชากรปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน
- งบประมาณ 100 ล้านบาท
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมประมง สำนักงานประมงจังหวัด และศูนย์วิจัยประมงในพื้นที่
มาตรการที่ 2 : การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง
- วัตถุประสงค์ จัดหาพันธุ์สัตว์น้ำและปล่อยปลาผู้ล่าตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำ
- ตัวชี้วัด ปล่อยปลาผู้ล่าตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำ ไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว
- งบประมาณ 50 ล้านบาท
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมประมง สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยประมงในพื้นที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และสถานบันการศึกษา
มาตรการที่ 3 : การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์
- วัตถุประสงค์ เพิ่มแหล่งรับซื้อปลาหมอคางดำที่ถูกจำกัดและหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ
- ตัวชี้วัด ปริมาณปลาหมอคางดำที่นำไปใช้ประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน
- งบประมาณ 80 ล้านบาท
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมประมง สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยประมงในพื้นที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมการเกษตรฯ
มาตรการที่ 4 : การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน
- วัตถุประสงค์ สร้างความรู้และการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำให้กับประชาชนในพื้นที่เขตกันชนและพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
- ตัวชี้วัด (1) มีช่องทางการรับแจ้งการแจ้งการแพร่ระบาดไม่น้อยกว่า 1 ช่องทาง และ (2) เฝ้าระวังและป้องกันแหล่งน้ำที่ยังไม่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไม่น้อยกว่า 4 จังหวัด
- งบประมาณ 10 ล้านบาท
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมประมง สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยประมงในพื้นที่และด่านตรวจสัตว์น้ำ
มาตรการที่ 5 : สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ
- วัตถุประสงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความตระหนัก ให้กับทุกภาคส่วนเพื่อเป็นการป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด และข้อมูลด้านกฎหมาย
- ตัวชี้วัด มีสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ คู่มือประชาชน และคู่มือเจ้าหน้าที่เพื่อใช้รับมือปลาหมอคางดำ
- งบประมาณ 10 ล้านบาท
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมประมง สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยประมงในพื้นที่และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
มาตรการที่ 6 : การพัฒนางานวิจัยและนวักรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ
- วัตถุประสงค์ (1) พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และ (2) นำองค์ความรู้ไปจัดทำมาตรการในการแก้ไขปัญหา
- ตัวชี้วัด (1) บทความวิจัยฉบับสมบูรณ์เผยแพร่เป็นองค์ความรู้ในการจัดกรแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ (2) ระบบสารสนเทศที่สามารถวิเคราะห์ผลเชิงพื้นที่แบบเวลาจริง (Real Time ) และ (3) ระบบการจัดเก็บตัวอย่างสามารถใช้อ้างอิงประชาชนเป็นมาตรฐานสากล
- งบประมาณ 100 ล้านบาท
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมประมง
มาตรการที่ 7 : การฟื้นฟูระบบนิเวศ
- วัตถุประสงค์ ฟื้นฟูความหลากหลายและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
- ตัวชี้วัด (1) จำนวนสัตว์น้ำประจำถิ่นที่ปล่อยลงในแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว และ (2) แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำประจำถิ่นได้รับการฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 16 แห่ง
- งบประมาณ 100 ล้านบาท
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมประมง