“แพทองธาร” ยันเป็นกลางภูมิรัฐศาสตร์โลก กังวลหนี้สาธารณะ จ่อพุ่งชนเพดาน 70%

08 ก.ย. 2567 | 04:47 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2567 | 05:01 น.

“แพทองธาร”โชว์นโยบายระหว่างประเทศ รักษาจุดยืนไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลก สานต่อการทูตเชิงรุก เร่งเจรจา FTA เตรียมพร้อมเป็นสมาชิก OECD ยอมรับห่วงจีดีพีไทยโตต่ำไม่เกิน 3% ต่อปี ดันหนี้สาธารณะใกล้ชนเพดาน 70% ต่อจีดีพี

ท่ามกลางความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่ส่อขยายวงในหลายคู่ของโลก ส่งผลให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งไทยต้องรักษาจุดยืนให้ดี

ทั้งนี้ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล “แพทองธาร  ชินวัตร” ต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567 นโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายการต่างประเทศจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องจับตา โดยรัฐบาลประกาศจะแปลงความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตรระหว่างประเทศมหาอำนาจไปสู่ยุทธศาสตร์ที่จะเสริมสร้างโอกาสให้ประเทศไทยและเกื้อกูลผลประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด ดังนี้

1.รัฐบาลจะรักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่งประเทศ (Non-Conflict) และจะดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างจริงใจและสร้างสรรค์ ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานสากล โดยมีผลประโยชน์ของชาติ เป็นแกนกลางสำคัญ และมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับนานาประเทศเพื่อส่งเสริมสันติภาพ และความมั่งคั่งร่วมกัน (Active Promoter of Peace and Common Prosperity) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูง ผู้ประกอบการ และนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย

2.รัฐบาลจะเดินหน้าสานต่อนโยบายการทูต เศรษฐกิจเชิงรุก และการสร้าง Soft Power เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะตลาดใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างโอกาสความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งระบบทวิภาคี (Bilateral) และพหุภาคี (Multilateral)

เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ยกระดับมาตรฐานของประเทศ เพิ่มบทบาท ประเทศไทยในเวทีโลกและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะสานต่อจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

"อย่างไรก็ดีแม้ว่าการบริหารงานของรัฐบาลจะเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ที่เป็นปัญหาด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่สั่งสมต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และถูกซ้ำเติม ด้วยโควิด-19 ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากไร้ซึ่งมาตรการทางการเงินและการคลังที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าประเทศจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศใกล้เต็มเพดานที่ร้อยละ 70  ของ GDP ในปี 2570 จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก ที่รัฐบาลจะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเติบโตอย่างเข้มแข็งอีกครั้งโดยเร็ว"

โดยการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มรายได้ทั้งในระดับประเทศและระดับปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ การยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ รวมถึงการเร่งบริหารทรัพย์สินของรัฐให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านั้นจะกลายเป็นเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบภาษี และจะกลับกลายเป็นศักยภาพทางนโยบายการคลัง (Fiscal Space) ที่เพียงพอสำหรับการเป็นแกนหลัก ในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและดำเนินนโยบายการคลังโดยบริหารค่าใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด

ที่สำคัญได้แก่ การเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพ ของการใช้จ่ายงบประมาณให้สามารถกระจายเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจโดยเร็ว การพิจารณาใช้จ่าย จากแหล่งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ ทั้งในส่วนของเงินกู้และการให้เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาประเทศ รวมทั้งพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายเพื่อลดภาระการลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินและการกู้เงิน ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด

“รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และดำาเนินงานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไก ในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

ทั้งนี้รัฐบาลขอให้ความมั่นใจว่า จะมุ่งมั่นตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งประสานพลังจากทุกภาคส่วน จากทุกช่วงวัย จากทุกความเชี่ยวชาญ ขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันให้สำเร็จ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า