สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจีนที่ถือเป็นโรงงานของโลกได้ทะลักเข้าไทยต่อเนื่องทุกทิศทาง ทั้งการนำเข้าที่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายผ่านการสำแดงพิกัดศุลกากรการนำเข้าเป็นเท็จ
รวมถึงเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) และไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.)ของไทย ทะลักเข้ามาจำหน่ายทั้งในช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ เป็นปัจจัยหลักที่กระทบผู้ประกอบการโรงงานผลิตสินค้าเอสเอ็มอีไทยทยอยปิดตัวลงจำนวนมาก เฉพาะครึ่งแรกปี 2567 ปิดตัวไปแล้ว 667 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 17,600 คน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ออกมาส่งเสียงถึงรัฐบาลในเรื่องนี้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยขอให้เร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกของ ส.อ.ท.ล่าสุดได้รับผลกระทบแล้วถึง 23 กลุ่มอุตสาหกรรม หากเอาไม่อยู่คาดถึงสิ้นปีนี้จะได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 30 กลุ่ม เป็นปัจจัยสำคัญที่กดทับอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานไทยเฉลี่ยยังอยู่ที่ 59-60% ทำให้ไม่สามารถขยายการลงทุนใหม่ได้
สอดคล้องกับตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้าจีนถึง 1.29 ล้านล้านบาท และช่วง 7 เดือนแรกปี 2567 ขาดดุล 8.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่ขาดดุล 7.06 แสนล้านบาท
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จีนนอกจากเป็นนักอุตสาหกรรมที่เก่งแล้ว ยังเป็นนักขาย และเป็นนักการตลาดที่เก่ง ซึ่งคงไปห้ามจีนไม่ให้ส่งสินค้าไปขายทั่วโลกได้ อย่างไรก็ดีการลดผลกระทบจากสินค้าจีนให้ได้ผล และสามารถทำได้ไม่ขัดกับกฎกติกาการค้าสากลคือ เจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทย เช่น ศุลกากรต้องเอ็กซเรย์ตู้สินค้านำเข้าแบบ 100% จากปัจจุบันยังสุ่มตรวจเพียง 20-30% โดยต้องเพิ่มเครื่องเอ็กซเรย์อย่างเพียงพอ เพื่อตรวจสอบสินค้าที่สำแดงเท็จ ไม่ตรงกับสินค้าที่ขอนำเข้าจริง รวมถึงสินค้าที่ถูกยัดไส้ ไม่ได้มาตรฐานแอบลักลอบปะปนเข้ามา ที่ในแต่ละปีมีจำนวนมหาศาล
“เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐที่รับผิดชอบในการนำเข้าสินค้า จะต้องตื่นตัวและเอาจริงเอาจัง โดยต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่และไม่ขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศแบบ 100% เพราะเวลานี้สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐาน ทะลักเข้ามาทุกทิศทาง ทั้งด่านชายแดน ทางเรือ และทางอากาศ จากที่ผ่านมาอาจจะปล่อยปละละเลย หรือบังคับใช้มาตรการแบบหละหลวม และอีกด้านหนึ่งอาจมีการสมรู้ร่วมคิดหรือสมยอมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้นำเข้า ก็ต้องมีการตรวจสอบเอาผิด”
ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบพบสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพก็ให้ทำการยึด กักกัน และทำลาย หากทำแบบนี้อย่างจริงจังจะทำให้ผู้กระทำทำผิดไม่กล้ายัดไส้สินค้าเข้ามา เพราะมาแล้วขาดทุน หากเจอซักสองสามรอบก็คงไม่กล้าทำ เพราะรู้ว่าเอาจริง
อย่างไรก็ดีหากยังมีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่เป็นอันตรายกับผู้บริโภคเล็ดลอดถูกนำไปจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือขายตามตลาดนัด หรือร้านค้าต่าง ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง เป็นต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) องค์การอาหารและยา (อย.) ก็ต้องไปตรวจจับสินค้าและผู้จำหน่ายเพื่อดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้สินค้าเหล่านี้ลดลงได้จริง
ขณะเดียวกันในพื้นที่คลังสินค้าทัณฑ์บน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเพื่อใช้สำหรับเก็บสินค้าเพื่อส่งออก และเพื่อการอื่นๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี ในหลายประเทศได้นำกล้องวงจรปิดไปติดตั้งทางเข้า-ออกสินค้า หรือในทุกมุมของสินค้าที่จัดเก็บ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าสินค้านั้นถูกลักลอบนำออกมาจำหน่ายหรือไม่ ซึ่งไทยก็ควรใช้มาตรการดังกล่าวเช่นกัน
“ไทยต้องมีเครื่องมือ และทำการเอ็กซเรย์ตู้สินค้านำเข้าแบบ 100% และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบังคับใช้กฎหมาย 100% โดยเล่นอยู่ในเกม และบังคับใช้กับสินค้าจากทุกประเทศไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะสินค้าจีน เพื่อไม่ให้เสียสายสัมพันธ์ รวมถึงการออกไปตรวจตราจับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่ลักลอบนำสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีความปลอดภัยเข้ามา หากทุกหน่วยงานเอาจริงเอาจังคาด 3-6 เดือนนับจากนี้ก็จะเริ่มเห็นผล โรงงานเอสเอ็มอีของเราจะปิดตัวน้อยลง และมีเวลาหายใจในการปรับตัวมากขึ้น”
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ กลุ่มบริษัท efrastructure Group ผู้บุกเบิกวงการอีคอมเมิร์ซ และการตลาดดิจิทัลเมืองไทย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่มั่นใจว่ามาตรการแก้ปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และราคาต่ำจากต่างประเทศ ที่กระทรวงพาณิชย์ร่วม 28 หน่วยงาน กำหนดออกมาล่าสุดจะสามารถดำเนินการได้ผล เนื่องจากแต่ละมาตรการนั้นเป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐ ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายต้องดำเนินการอยู่แล้ว คำถามคือที่ผ่านมาทำไมไม่ดำเนินการจนปล่อยสินค้าจีนเข้ามาจนล้นตลาดในขณะนี้
“เมื่อเป็นกระแสขึ้นมาภาครัฐก็ลุกขึ้นมาเรียกประชุม และออกมาตรการแก้ปัญหากันที สุดท้ายเรื่องนี้ก็อาจจะจางหายไป หากต้องการแก้ปัญหาจริงต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม นำเทคโนโลยีทราฟฟี่ ฟองดูว์ ของเนคเทค ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ มาเป็นเครื่องมือหรือช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ติดตาม ตรวจสอบการแก้ไขปัญหา รวมถึงมีตัวชี้วัดแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว”
อนึ่ง เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงจาก 28 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือ ในการแก้ปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และราคาต่ำจากต่างประเทศ ได้ข้อสรุปมาตรการที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการใน 5 มาตรการหลัก แยกเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที และมาตรการยั่งยืนรวม 63 มาตรการย่อย
ประกอบด้วย 1.ให้หน่วยงานบังคับใช้ระเบียบ / กฎหมายอย่างเข้มข้น 2.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต 3.มาตรการภาษี 4.มาตรการช่วยเหลือ SMEs ไทย และ 5.สร้าง / ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยให้รายงานผลต่อศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมายที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานทุกสัปดาห์
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4024 วันที่ 5 – 7 กันยายน พ.ศ. 2567