ธ.ก.ส. เปิดเงื่อนไข “ประกันภัยข้าวนาปี 2567” คุ้มครองสูงสุด 1,190 บาท/ไร่

23 มิ.ย. 2567 | 08:45 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2567 | 08:52 น.

เช็คเงื่อนไขโครงการ "ประกันภัยข้าวนาปี 2567" ธ.ก.ส. จ่ายเบี้ยประกันภัยขั้นต่ำสุด 27 บาทต่อไร่ และคุ้มครองสูงสุด 1,190 บาท/ไร่ เกษตรกรอยากได้สิทธิต้องทำอย่างไรบ้าง? พร้อมข้อยกเว้นประกันภัยข้าวนาปีไม่จ่ายกรณีไหนบ้าง ต้องรู้ก่อนทำประกัน!

โครงการประกันภัยพืชผล ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พ.ศ. 2554 จากการที่เกษตรกรต้องเผชิญกับความเสี่ยงในระหว่างการเพาะปลูก รัฐบาลจึงหาเครื่องมือมาบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรโดยใช้ระบบประกันภัย ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ความเสี่ยงของเกษตรกรได้รับการดูแลอย่างครบวงจร

 

 

เปิดประกันภัยข้าวนาปี 2567

 

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเห็นชอบ "ประกันภัยข้าวนาปี" ปีการผลิต 2567/68  วงเงิน 1,569 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งรูปแบบโครงการส่วนในปีนี้จะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับทุกปีที่ผ่านมา ซึ่ง "ประกันภัยข้าวนาปี 2567" รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย Tier 1 ร้อยละ 60 และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย Tier 1 ร้อยละ 40 แบ่งการรับประกันภัยออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจของเกษตรกร (Tier 2) โดยวางเป้าหมายพื้นที่ปลูกข้าว  21 ล้านไร่

 

“ประกันภัยข้าวนาปี 2567” มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย ดังนี้

ผู้เอาประกันต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ที่ขึ้นทะเบียน และแจ้งปรับข้อมูลเกษตรกับกรมส่งเสริมการเกษตร (ทบก.) ในปีการผลิต 2567/68

 

1.ประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1)

รัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนค่าเบี้ยประกัน 70 บาทต่อไร่ เกษตรกรสามารถเลือกซื้อประกันขั้นพื้นฐานตามพื้นที่ความเสี่ยง  (Tier 1) ได้แก่

พื้นที่เสี่ยงต่ำ 27บาทต่อไร่
พื้นที่ความเสี่ยงกลาง 60 บาทต่อไร่
พื้นที่ความเสี่ยงสูง 218 บาทต่อไร่ 
(ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
โดยมีวงเงินคุ้มครองสำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย จำนวน 1,190 บาทต่อไร่ และกรณีศัตรูพืช และโรคระบาด วงเงินความคุ้มครอง 595 บาทต่อไร่

 

2. ประกันภาคสมัครใจ (Tier 2)

กำหนดชำระค่าเบี้ยประกันได้ด้วยตนเอง แบ่งตามความเสี่ยงของพื้นที่ ได้แก่

พื้นที่เสี่ยงต่ำ 27 บาทต่อไร่
พื้นที่ความเสี่ยงกลาง 60 บาทต่อไร่
พื้นที่ความเสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่
(ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) วงเงินคุ้มครองเพิ่มอีก 240 บาท กรณีเกิด 7 ภัยธรรมชาติ และวงเงินคุ้มครองเพิ่ม 120 บาท กรณีโรคระบาด/ศัตรูพืช 

 

 

เกษตรกรผู้เอาประกันภัยต้องทำอย่างไร?

กรณีเกิดภัยพิบัติ หรือพื้นที่ดังกล่าวได้รับการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเกษตรกรผู้ทำประกันภัยที่ได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งความเสียหายได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอ จะส่งข้อมูลไปยังสมาคมวินาศภัย เพื่อประเมินข้อมูลความเสียหาย เมื่อตรวจสอบครบถ้วนแล้ว สมาคมฯ จะพิจารณาจ่าย ค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไข ภายใน 15 วัน ผ่านระบบ ธ.ก.ส. โดยเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรโดยตรง เกษตรกรสามารถบันทึกข้อมูลความเสียหายผ่านแอปพลิเคชั่น “มะลิซ้อน” เพื่อให้สมาคมวินาศภัยไทย พิจารณาให้ความช่วยเหลือ กรณีพื้นที่ภัยพิบัติอยู่นอกเขตประกาศตามเกณฑ์เพิ่มเติมต่อไป

 

แอพลิเคชัน มะลิซ้อน

 

อย่างไรก็ดีเกษตรกรสามารถแจ้งขอเอาประกันภัยได้ ตั้งแต่วันที่ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ โดยไม่ต้องรอเพาะปลูกข้าวนาปีจริง  หลังจากนั้นก็สามารถตรวจสอบสิทธิการทำประกันภัย หรือซื้อประกันภัยเพิ่มเติมอีกได้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น “BAAC Insure” โดยดาวน์โหลดได้ผ่านระบบ IOS และ Android หรือเพียงนำบัตรประชาชนไปติดต่อ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ก็สามารถซื้อประกันได้เลยทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call Center 02 555 0555 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกที่นี่

ธ.ก.ส. เปิดเงื่อนไข “ประกันภัยข้าวนาปี 2567” คุ้มครองสูงสุด 1,190 บาท/ไร่

ข้อยกเว้นความคุ้มครอง
การขอเอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะต้องเอาประกันภัยขั้นพื้นฐาน (Tier 1) ให้เต็มพื้นที่การผลิตในแปลงเพาะปลูกที่ขอเอาประกันภัยก่อน จึงจะ สามารถขอเอาประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) สำหรับแปลงเพาะปลูกดังกล่าว  ข้อยกเว้นความคุ้มครอง ตามกรมธรรม์หมวด 3 ไม่คุ้มครองภัยพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตรัฐประกาศเป็นพื้นที่รับน้ำ/ กักเก็บน้ำ ทางน้ำไหลผ่านพื้นที่ที่ไม่ส่งเสริม การเพาะปลูก และข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัย