ศึกชิงตลาด “มังคุดไทย” เสี่ยงสูงถูก "อินโดฯ" ล้มแชมป์

21 ก.ย. 2567 | 08:21 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2567 | 08:22 น.

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ส่งสัญญาณเตือน “มังคุดไทย” ไปจีน 7 เดือนแรก ส่งออกลดลงเป็นปีที่ 3 เสี่ยงถูกอินโดฯ ล้มแชมป์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน รายงานภาพรวมมังคุดในตลาดจีน พบว่า  7 เดือนแรกของปี  2567 ประเทศจีนมีปริมาณการนำเข้ามังคุดรวม 216,611 ตัน มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 513.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 8.63 โดยมีการนำเข้าหลักมาจากประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมาร์ และเปรู ซึ่งจากข้อมูลประเทศไทยยังคงเป็นแหล่งนำเข้ามังคุดที่ใหญ่ที่สุดของจีน ถึงกระนั้นสัดส่วนการนำเข้ามังคุดจากประเทศไทยมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับ ใน 7 เดือนแรก ปี 2567 มีปริมาณนำเข้าจากประเทศไทยอยู่ที่ 153,235 ตัน มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 513.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.85 จากการนำเข้าทั่วโลก หดตัวลงร้อยละ 6.53  สัดส่วนการนำเข้ามังคุดจากประเทศไทยมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2565 และมีแนวโน้มนำเข้ามังคุดจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมามากขึ้น

 

จากข้อมูลมีการระบุการนำเข้าจากอินโดนีเซียในปี 2565 มีสัดส่วนร้อยละ 4.93 และในปี 2567 สัดส่วนการนำเข้าขยายตัวเป็น 24.92 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 108.10 มีแนวโน้มว่าจะมีการนำเข้ามังคุดจากอินโดนีเซียจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะเข้ามากินสัดส่วนทางตลาดนำเข้ามังคุดจากไทยได้ ขณะเดียวกันตลาดนำเข้าจากเวียดนามก็มีการปรับตัวขึ้นหลังจากที่ซบเซาจากปี 2566 โดยในปี 2567 นี้ มูลค่าและสัดส่วนการนำเข้ามีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย

สถานการณ์การผลิตมังคุดของประเทศคู่แข่ง

เวียดนาม

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทในหลายๆเมืองของเวียดนามแสดงให้เห็นว่า ผลผลิตในหลายพื้นที่ลดลงถึง 50-60% เนื่องจากอากาศร้อนและการขาดการให้น้ำเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณของมังคุด การลดลงของปริมาณมังคุดและคุณภาพที่ไม่ดีทำให้มีราคาลดลงอยู่ที่ 25,000-40,000 ดอง/กิโลกรัม (7.15-11.4 บาท/กิโลกรัม) ซึ่งลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และลดลงประมาณ 10% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ปัจจุบันมังคุดเวียดนามในฤดูกาลหลักยังไม่สามารถแข่งขันกับมังคุดไทยได้ ราคาจึงลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ค้าส่งมังคุดกล่าวว่า สภาพอากาศที่ไม่เสถียรทำให้ผลไม้ลดลงและคุณภาพมังคุดไม่ดี ราคาจึงลดลง นอกจากนี้ ตลาดมีมังคุดจากไทยจำนวนมาก ซึ่งบังคับให้ผู้ค้าต้องลดราคาต่อไป มังคุดเวียดนามท้องถิ่นมีจำนวนน้อย เกษตรกรหรือผู้ค้าอาจส่งตรงถึงลูกค้าโดยไม่ผ่านตลาดขายส่ง

 

อินโดนีเซีย

ณ ปัจจุบันมังคุดอินโดนีเซียมีศักยภาพในการส่งออกมังคุดเป็นอันดับสองรองจากไทยในตลาดประเทศจีน และมีแนวโน้มว่าจะส่งออกเข้าสู่ประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ประเทศอินโดนีเซียเองกำลังเตรียมพร้อมที่จะส่งออกมังคุดสู่ตลาดออสเตรเลีย จากข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ (IA-CEPA) โดยอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติรัฐบาลออสเตรเลียสำหรับการฉายรังสีเพื่อตรวจสอบสินค้าส่งออกทางการเกษตรจากอินโดนีเซีย ในด้านมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวดของออสเตรเลียยังคงมีความท้าทายต่ออินโดนีเซียเป็นอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน ให้ความเห็น มังคุดไทย ถึงแม้ว่าปัจจุบันไทยเองยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งอย่างต่อเนื่องแสดงถึงความเชื่อมั่น และความต้องการบริโภคมังคุดไทยในประเทศจีน แต่ก็มีสัดส่วนการนำเข้าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่ ผู้เล่นหลักอันดับ2, 3 และ 4 ในตลาดอย่างประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมาตามลำดับ ที่จีนมีการนำเข้าเติบโตขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอัตราการพบมังคุดเนื้อแก้วในมังคุดที่นำเข้าจากประเทศไทย ส่งผลให้ผู้นำเข้าต้องรับความเสี่ยง

 รวมถึงผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน เช่น อากาศร้อนจัดและภัยแล้ง ดังนั้นประเทศไทยยังควรต้องรักษาคุณภาพมังคุดเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ  และควรกระจายความเสี่ยงด้วยการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อขยายการเข้าถึงตลาดและเพิ่มความสามารถของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทย และเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดจีนมากจนเกินไป