ผลศึกษา “ปลาหมอคางดำ”มาจาก 2 แหล่ง ไม่ควรบิดเบือน ผลตรวจ DNA

23 ก.ย. 2567 | 11:03 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2567 | 11:53 น.

คณะอนุกรรมาธิการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ที่มี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นประธาน ได้สรุปผลการตรวจ DNA ปลาหมอคางดำ ในปี 2560-2564 รวมถึงตัวอย่างปลาที่จับได้จากบ่อพักน้ำของฟาร์มจากบริษัท ที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่กระจาย

ทั้งนี้จากการเทียบกับข้อมูล DNA จากฐานข้อมูล GenBank - NCBI ของต่างประเทศ พบว่า มีความใกล้เคียงกันมาก จัดอยู่ในกลุ่มย่อยเดียวกันนั้น โดยอ้างอิงจากการศึกษา ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลข่าวที่เผยแพร่ออกมา กลับระบุเพียงว่า DNA ปลาหมอคางดำในไทย ตรงกับ DNA ปลาหมอคางดำในประเทศกานาเท่านั้น ทั้งที่ข้อมูลของ ดร.เจษฎา ระบุไว้ 2 ประเทศ คือ กานา และโกตดิวัวร์(ไอวอรี่โคสต์)

การนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อ โดยอ้างอิงจาก ดร.เจษฎา ในฐานะที่ปรึกษาฯ แต่เพียงบางส่วนเช่นนี้ ทำให้สังคมเข้าใจว่า ปลาหมอคางดำที่สร้างปัญหาในไทยมาจากประเทศกานา ที่มีรายงานการนำเข้ามาเพียงครั้งเดียว ซึ่งไม่ตรงกับรายงานการวิจัยทั้งฉบับที่ระบุชัดเจนว่า ยืนยันไม่ได้ว่า ปลาหมอคางดำของไทยมาจากกานาประเทศเดียว

เกิดคำถามว่า ในเมื่อนำข้อมูลมาจาก อ.เจษฎา ในฐานะที่ปรึกษาฯ แล้วทำไมต้องตัดต่อให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน จะสร้างความสับสนหรือสงสัยให้กับสังคมไปเพื่ออะไร ทั้ง ๆ ที่รายงานฉบับเต็มมีข้อมูลและข้อสังเกตในแต่ละประเด็นครบถ้วนอยู่แล้ว

ผลศึกษา “ปลาหมอคางดำ”มาจาก 2 แหล่ง ไม่ควรบิดเบือน ผลตรวจ DNA

ย้อนกลับไปโพสต์ของ ดร.เจษฎา ข้อความระบุว่า ผลดีเอ็นเอ ยืนยัน "ปลาหมอคางดำ ที่ระบาดในไทย" มีต้นกำเนิดมาจากแถบประเทศกานา-โกตดิวัวร์ เพราะผลการวิเคราะห์ สร้างแผนภูมิต้นไม้วิวัฒนาการ (phylogenetic tree) ด้วยวิธี neighbor- joining (NJ) โดยนักวิจัยของกรมประมงได้ทำการศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรม mitochondrial DNA ส่วน D-loop ของปลาหมอคางดำ เปรียบเทียบกันระหว่างลำดับพันธุกรรมของตัวแทน haplotype กลุ่มประชากรปลาของ 6 จังหวัดในประเทศไทย และทวีปแอฟริกาแล้ว ได้ผลว่า ตัวอย่างปลาหมอคางดำที่เก็บจาก 6 จังหวัดที่มีรายงานการระบาดในช่วงปี 2560 ถึง 2564 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มย่อยเดียวกัน กับตัวอย่างจาก ประเทศกานาและโกตดิวัวร์ โดยมีค่าความเชื่อมั่นของกิ่งรวม บนแผนภูมิต้นไม้นี้ ตามการวิเคราะห์แบบ boostrap ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง คือ มากถึง 70%

แม้ว่าลักษณะแผนภูมิต้นไม้บอกว่า พันธุกรรมของปลาจากประเทศไทยมีความใกล้ชิดกับประเทศกานามากกว่า โกตดิวัวร์ แต่ความเชื่อมั่นในกิ่งย่อยของแผนภูมิต้นไม้มีค่าต่ำมาก จึงยืนยันไม่ได้ว่า ปลาหมอคางดำของไทย มาจากกานาเพียงประเทศเดียว เพราะข้อมูลยังไม่เพียงพอ

ถึงแม้ องค์กรอิสระที่ติดตามเรื่องปลาหมอคางดำ ให้ข้อมูลว่า ทั้ง 2 ประเทศนี้ติดกัน และมีแหล่งน้ำเชื่อมต่อกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่ปลาหมอคางดำจากทั้ง 2 ประเทศ จะมาจากแหล่งเดียวกัน ถือเป็นประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตได้ แต่ฟันธงว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ ได้ยาก เพราะการศึกษานี้เป็นเพียงการเปรียบเทียบ DNA เพื่อหาแหล่งที่มาของปลาเท่านั้น

เช่นนั้นก็มีข้อสังเกตว่า ถ้านำเข้ามาเพียงครั้งเดียวแล้ว DNA ของปลาหมอคางดำในไทยไปเหมือนกับปลาจากประเทศโกตดิวัวร์ได้อย่างไร หรืออาจมีผู้นำเข้าปลาหมอคางดำจากแอฟริกาเข้ามา โคยไม่ขออนุญาตก็เป็นได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเด็นนี้ไม่ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือองค์กรอิสระอย่างจริงจัง บริษัทผู้ส่งออกปลาหมอคางดำ เข้ามารายงานและแจ้งเพียงว่า มาจากการกรอกชื่อผิดเพียงเท่านั้น แต่ไม่เคยตรวจสอบจนถึงว่า ปลาที่ส่งออกไปนั้น ตกลงเป็นปลาอะไรกันแน่

ผลศึกษา “ปลาหมอคางดำ”มาจาก 2 แหล่ง ไม่ควรบิดเบือน ผลตรวจ DNA

ดร.เจษฎา ยังตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยของกรมประมง ที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 2562-2565 ว่า DNA ปลาหมอคางดำในแต่ละพื้นที่ แม้มีความใกล้ชิดกัน แต่ก็พบความแตกต่างกันด้วย ยกตัวอย่าง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกัน แต่ที่จังหวัดระยอง พบว่า DNA มีความห่างและมีความเฉพาะ หรือปลาในจังหวัดเพชรบุรีเมื่อเทียบกับที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็โดดไปอีก

จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่า ปลาสามารถเปลี่ยนพันธุกรรมได้เองหรือไม่ หรืออาจมาจากการบริษัทอื่นๆ ที่นำเข้ามาโดยไม่ขออนุญาตก็มีความเป็นไปได้ เพราะหากปลามาจากการนำเข้าเพียงครั้งเดียวและแหล่งเดียวกันทั้งหมด DNA ก็ควรเหมือนกันทั้งหมด ไม่ใช่มีส่วนที่แตกต่างกันเช่นนี้

ดังนั้นการศึกษาเปรียบเทียบ DNA ปลาหมอคางดำนั้น ฟันธงไม่ได้ว่า ปลาหมอคางดำในไทย มาจากการนำเข้าตามรายงานเท่านั้น เพราะปริมาณข้อมูลยังไม่เพียงพอ ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลให้กับสังคมจำเป็นต้องนำเสนอให้ครบถ้วน และถ้าเป็นไปได้ควร ให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ มาให้ข้อมูลที่รอบด้าน ไม่เป็นการบิดเบือนข้อมูลจนเกิดความสับสน รวมทั้งควรพิสูจน์อย่างจริงจัง ในข้อสังเกตที่ว่า อาจมีบริษัทอื่นที่ลักลอบนำเข้าปลาคางดำจากแอฟริกาเข้ามาโดยไม่ได้รับจากอนุญาต

บทความโดย : วิภาวี บุตรสาร นักวิชาการด้านสัตว์น้ำ