ไทย-เกาหลีใต้ เร่งเจรจา EPA ปิดดีลปี 68 ดึงนักธุรกิจลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

26 ก.ย. 2567 | 05:21 น.
อัพเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2567 | 06:21 น.

“สุชาติ” รมช.พาณิชย์ ถก นายชอง อิน-กโย รมต.การค้า เกาหลีใต้ เร่งเจรจาความตกลง EPA ไทย – เกาหลีใต้ ครั้งที่ 2 คาดสรุปผลปี 68 พร้อมชวนนักธุรกิจเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดัคเตอร์ การแพทย์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมกล่าวในพิธีเปิดการประชุมเจรจาความตกลง EPA ไทย – เกาหลีใต้ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 – 27 กันยายน 2567 ณ กรุงโซล ร่วมกับ นายชอง อิน-กโย รัฐมนตรีการค้า กระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ ซึ่งสองฝ่ายพร้อมเดินหน้าการเจรจาให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2568 ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยไทยได้ขอให้ฝ่ายเกาหลีใต้พิจารณาเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงของไทย อาทิ สินค้ากลุ่มผลไม้เมืองร้อน เช่น มะม่วง มังคุด และสับปะรด กุ้งสดและแปรรูป เนื้อไก่สดและแปรรูป

ไทย-เกาหลีใต้ เร่งเจรจา EPA ปิดดีลปี 68 ดึงนักธุรกิจลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทั้งนี้ ยังได้พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีการค้า ซึ่งไทยและเกาหลีใต้ได้พัฒนาความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันมากว่า 10 ปี และทั้งสองฝ่ายพร้อมจะยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ

สำหรับ ไทย - เกาหลีใต้ (Economic Partnership Agreement: EPA) ซึ่งจะเป็นความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีที่ครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนเพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรีที่ไทยและเกาหลีใต้เป็นภาคีร่วมกัน ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - เกาหลีใต้ (AKFTA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)

ไทย-เกาหลีใต้ เร่งเจรจา EPA ปิดดีลปี 68 ดึงนักธุรกิจลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นอกจากนั้น ยังหารือถึงการรื้อฟื้นกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ JTC ระดับรัฐบาลที่ห่างหายไปกว่า 20 ปี เพื่อใช้เป็นเวทีหารือถึงแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้า การลงทุน และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งฝ่ายไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ในช่วงต้นปี 2568 นอกจากนั้น ตนได้แจ้งฝ่ายเกาหลีใต้ว่าไทยพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ของเกาหลีใต้ที่จะมีขึ้นในปี 2568 อีกด้วย

“ผมใช้โอกาสนี้เชิญชวนนักธุรกิจเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีศักยภาพสูง และขอให้เกาหลีใต้ช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนของไทยที่ปัจจุบันมีการลงทุนในเกาหลีใต้  รวมถึงการลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Growth) ของรัฐบาลเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ที่กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593” นายสุชาติกล่าว

ไทย-เกาหลีใต้ เร่งเจรจา EPA ปิดดีลปี 68 ดึงนักธุรกิจลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,744 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,073 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ

น้ำมันสำเร็จรูป

ผลิตภัณฑ์ยาง

น้ำตาลทราย

แผงวงจรไฟฟ้า

ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม

ไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,671 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ

  • เหล็ก
  • เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
  • แผงวงจรไฟฟ้า
  • เคมีภัณฑ์
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. - ก.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 8,949 ล้านดอลลาร์ เป็นการส่งออก 3,598 ล้านดอลลาร์ และเป็นการนำเข้า 5,351 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ในปี 2566 เกาหลีใต้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 7 จำนวน 25 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 38,418 ล้านบาท