นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจปี 2567 นี้ ว่ามีบรรยากาศคึกคักพอ ๆ กับปีก่อน คาดว่าจะมีเงินสะพัด 45,003 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยเพียง 1%
ทั้งนี้ เนื่องจากคนยังระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี รวมทั้งเงินสด 10,000 บาท ยังไม่มีผลกับการใช้จ่ายกินเจปีนี้มากนัก เนื่องจากคนกินเจส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิในโครงการรอบแรก แต่อยู่ในกลุ่มคนเฟส 2 ที่จะได้รับเงินดิจิทัลในปี 2568
“เงินสะพัดกินเจปีนี้ถือว่าสูงสุดหลังจากสถานการณ์โควิดเมื่อปี 2563 โดยมีมูลค่าการใช้สูงกว่าปีก่อน คือปรับจาก 4,587 บาท/คน เป็น 4,696 บาท/คน แต่มูลค่าที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากของมีราคาแพงขึ้น ไม่ใช่กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อดูจากปริมาณการซื้อพบว่าส่วนใหญ่ซื้อในปริมาณเท่ากับปีก่อน”
ขณะที่สินค้าที่สนใจซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก 17.8% คือทองคำ อัญมณี รองลงมา 10.7% เครื่องใช้ไฟฟ้า, 8.8% เครื่องมือสื่อสาร, 8.4% สินค้าอุปโภคบริโภค และ 8.3% สินค้าวัตถุดิบเพื่อการเกษตรและการค้า เป็นต้น
“กลุ่มคนที่รับเงินสด 1 หมื่นบาทครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะแบ่งใช้จ่ายเงินหลายครั้ง โดยจะใช้จ่ายภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อซื้อสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศเอง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี และสินค้าอุปโภคบริโภค คาดว่าเงินหมื่นบาทเฟสแรก วงเงิน 1.45 แสนล้าน จะเข้ามาหมุนเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบรวม 2.5-4.5 แสนล้านบาท จะผลักให้จีดีพีปีนี้โตเพิ่มอีก 0.2-0.3% ทำให้จีดีพีช่วงครึ่งปีเติบโต 3-3.5% โดยทั้งปีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตรา 2.6-2.8%”
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสอบถามกลุ่มทั่วประเทศ พบว่าคนส่วนใหญ่ 63.9% ไม่กินเจ และ 36.1% กินเจ โดยคนส่วนใหญ่ 66.5% มองว่าราคาอาหารเจปีนี้แพงขึ้น 33.4% มองว่าเท่าเดิม และ 0.1% มองว่าลดลง เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายโดยรวมปีนี้เทียบกับปีก่อน พบว่าคนส่วนใหญ่ 50.1 ซื้อของกินเจเท่าเดิม 26.7% ซื้อลดลง และ 23.2% ซื้อเพิ่มขึ้น
ส่วนมูลค่าโดยรวมที่ซื้อของกินแจปีนี้ ส่วนใหญ่ 47.0% เพิ่มขึ้น 34% เท่าเดิม และ 19% ลดลง ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ 69.3% มองว่าบบรยากาศกินเจปีนี้ไม่เปลี่ยนแปลงคึกคักเท่ากับปีก่อน ส่วน 16.9% มองว่าคึกคักมากขึ้น และ 13.8 % มองว่าคึกคักน้อยลง
สำหรับแหล่งที่มาของเงินในการนำมาใช้จ่ายกินเจ 75.2% นำมาจากรายได้ประจำ 16.3% ดึงเงินออมมาใช้ 4.7% นำเงินช่วยเหลือจากภาครัฐกรณีเงินสด 1 หมื่นบาท ออกมาใช้ 2.8% อื่น ๆ และ 1% นำรายได้พิเศษออกมาใช้