ไทยส้มหล่น อินโดฯ เพิ่มค่าพรีเมียมส่งออก ดันราคาปาล์มสูงสุดรอบ 9 เดือน

06 ต.ค. 2567 | 04:14 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2567 | 05:32 น.

ชาวสวนเฮ ราคาปาล์ม เฉลี่ย 6.20 - 7.40 บาท/กิโลกรัม พุ่งสูงสุดรอบ 9 เดือน อดีตกรรมการ กนป. เผย อานิสงส์ อินโดฯ เพิ่มค่าพรีเมียมส่งออก บวกไฟสงครามตะวันออกกลางปะทุ ดันราคาน้ำมันทานตะวัน-ถั่วเหลือง ทั่วโลกราคาพุ่งยกแผง ชี้ไทยรับส้มหล่น ผู้ซื้อหันมาซื้อน้ำมันปาล์ม ราคาถูกกว่า

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนวัตกรรม คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงสาเหตุที่ราคาปาล์มน้ำมันของไทยเฉลี่ย 6.20 - 7.40 บาท/กิโลกรัม ณ วันที่ 1-6 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 9 เดือน

สาเหตุมาจากรัฐบาลอินโดนีเซียประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) โดยปรับขึ้นจาก 18 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น 33 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ทำให้มีผลต่อตลาดเพราะอินโดนีเซียเป็นเบอร์ 1 ของโลกในการส่งออกน้ำมันปาล์ม ส่งผลถึงราคาผลปาล์มในประเทศขยับเป็นก้าวกระโดด จากเดิมราคาค่อย ๆ ปรับขึ้นเนื่องจากผลผลิตในประเทศมีน้อย

 

ไทยส้มหล่น อินโดฯ เพิ่มค่าพรีเมียมส่งออก ดันราคาปาล์มสูงสุดรอบ 9 เดือน

“จากการปรับค่าธรรมเนียมการส่งออกของอินโดนีเซีย ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ ปรับขึ้นทั่วโลก และมีผลถึงน้ำมันปรุงอาหารประเภทอื่นขยับขึ้นตามกัน สาเหตุที่รัฐบาลอินโดนีเซียต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียม เพราะว่านโยบายการผสมดีเซลในประเทศจาก 35% มีแนวโน้มในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40%  2.ต้องการกักตุนสินค้าไว้ให้ผู้บริโภค ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเพิ่มขึ้น 5% เพื่อให้เพียงพอไม่ขาดแคลน และ 3.ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศออกน้อยลงด้วย 5% รวมมีผลต่าง 10% ที่ทำให้น้ำมันปาล์มมีซัพพลายออกสู่ตลาดลดลง”

ประกอบกับมีแนวโน้มภาวะสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ซึ่งก่อนหน้านี้อิสราเอลรุกหนักการทำสงครามกับหลายกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านให้การสนับสนุน ทำให้มีปัญหาในเรื่องการค้าขายน้ำมันถั่วเหลืองกันน้ำมันทานตะวันในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับขึ้นโดยอัตโนมัติ บวกกับการปรับค่าธรรมเนียมการส่งออกของอินโดนีเซีย ซึ่ง 2 ปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลก ส่วนกรณีเงินบาทแข็งค่ามาก ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก บวกสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศที่มีอยู่ประมาณ 3.3 แสนตัน ตอนนี้ต้องเห็นราคาปาล์มน้ำมันในประเทศต้องปรับลดลง แต่กลับพุ่งสวนทาง

 

สต็อกน้ำมันปาล์มของไทย

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบจากสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของมาเลเซียมีสูงสุดในรอบ 1 ปี บวกกับ “อินเดีย” ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าน้ำมันพืช 3 ชนิด รวมทั้งน้ำมันปาล์มดิบ จาก 5.5% เป็น 27.5% มีผล 14 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา และน้ำมันพืชกลั่น รวมถึงน้ำมันปาล์มกลั่น refined palm oil จาก 13.75% เป็น 35.75%

การขึ้นภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มของอินเดีย โดยปกติต้องกระทบการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบของไทยที่ส่งไปอินเดียปีละเกือบ 1 ล้านตัน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ไทยพึ่งพาตลาดอินเดียคิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ โดยตั้งแต่มกราคมถึงกรกฎาคม ปีนี้ไทยส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปอินเดียแล้วกว่า 6 แสนตัน คิดเป็น 30% ของน้ำมันปาล์มที่ไทยผลิตได้ ก็มีการประเมินกันเบื้องต้นว่า ไม่มีผลกระทบ เพราะความต้องการของประเทศจีนเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ทำให้ทดแทนตลาดอินเดียได้

“สาเหตุที่กระทรวงเกษตรฯ ของอินเดียได้เสนอให้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเพื่อป้องกันสินค้านำเข้าราคาถูกและปกป้องกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชน้ำมันในประเทศ เช่น มัสตาร์ด  เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับรายได้ของเกษตรกรและแรงจูงใจในการเพาะปลูก”

ดร.บุรินทร์ กล่าวถึง สต๊อกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย ผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ประมาณ ณ เดือนพฤษภาคม เฉลี่ย 4.4-4.5 ล้านตัน พอมาถึงเดือนกรกฎาคม เหลือสต๊อก 2.5 ล้านตัน ส่วนสต๊อกเดือนที่แล้วยังไม่ออกมา จะออกช้าเหมือนประเทศไทย ดังนั้นโดยส่วนตัวคาดว่าสต๊อกของอินโดนีเซียจะลดลงอีกเพราะมีผลผลิตลดลง จึงคาดว่าอินโดนีเซียจะยังคงมีนโยบายต่อเนื่อง และคาดว่าจะไม่ปรับนโยบายเร็ว แบบในช่วง 2 ปีที่แล้ว

“หากจำกันได้อินโดนีเซียเคยระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารภายในประเทศ แต่ก็ทำได้ไม่ถึงสองสัปดาห์ เพราะเกิดความวุ่นวายในประเทศ เกษตรกรชาวสวนปาล์มออกมาเดินขบวนประท้วง ส่วนโรงงานน้ำมันปาล์มต่างก็ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว ทำให้สต๊อกมีมากกว่า 7 ล้านตัน ในที่สุดก็ต้องประกาศยกเลิก ก็กลับมาส่งออกปกติ”