อินโดฯ ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม มีผล 28 เม.ย. หวั่นกระทบผู้บริโภคทั่วโลก

22 เม.ย. 2565 | 18:46 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2565 | 07:29 น.

อินโดนีเซียประกาศแบนส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารภายในประเทศ มีผล 28 เม.ย.นี้ ทำประเทศผู้นำเข้าระส่ำ หวั่นราคาพุ่งกระทบผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากน้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันพืชที่มีการบริโภคมากที่สุด และใช้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลากชนิด

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำ อินโดนีเซีย ประกาศ ระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม ในวันศุกร์ (22 เม.ย.) โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เม.ย. นี้ วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไข ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหาร ในประเทศ พร้อมกันนี้ นายวิโดโดยังย้ำว่า จะเฝ้าติดตามและประเมินการดำเนินนโยบายดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีน้ำมันปรุงอาหารอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศและมีราคาถูกลงด้วย

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา อินโดนีเซียเคยประกาศระงับส่งออกน้ำมันปาล์มมาครั้งหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะยกเลิกประกาศดังกล่าวในเดือนมีนาคม

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียเป็นสาเหตุทำให้น้ำมันปรุงอาหารเกิดการขาดแคลน และมีราคาพุ่งขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีการนัดชุมนุมประท้วงของนักศึกษาที่ออกมาขับไล่รัฐบาล

อย่างไรก็ตาม นโยบายห้ามการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียครั้งล่าสุดนี้ ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านจากนานาประเทศในฐานะผู้นำเข้าและผู้บริโภค เช่นที่ อินเดีย ผู้นำในภาคอุตสาหกรรมของอินเดียได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการที่อินโดนีเซียประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มเมื่อวันศุกร์ (22 เม.ย.) โดยพวกเขาให้เหตุผลว่า นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในอินเดีย เนื่องจาก น้ำมันปาล์มถือเป็นน้ำมันพืชที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก และมีการใช้ในการผลิตสินค้าหลายอย่าง เช่น บิสกิต มาร์การีน ช็อกโกแลต และน้ำยาซักผ้า

อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก

ดีลเลอร์รายหนึ่งของบริษัทเทรดดิ้งระดับโลกในเมืองมุมไบของอินเดีย ให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันปรุงอาหารจะพุ่งขึ้นไม่หยุดในขณะนี้ โดยผู้ซื้อยังคงต้องพึ่งพาน้ำมันปาล์ม เนื่องจากปริมาณน้ำมันดอกทานตะวันลดลงจากการเกิดสงครามในยูเครน ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองก็มีจำกัดเช่นกัน

 

"นี่ไม่ใช่เรื่องที่ดี และไม่มีใครคาดการณ์มาก่อน" ดีลเลอร์กล่าว

 

น้ำมันถั่วเหลืองพลอยราคาพุ่ง

ในวันเดียวกันนั้น (22 เม.ย.) ราคาสัญญาซื้อขายน้ำมันถั่วเหลืองของสหรัฐพุ่งทำสถิตินิวไฮ รับข่าวการแบนส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียเช่นกัน โดยราคาสัญญาน้ำมันถั่วเหลืองสหรัฐที่ซื้อขายในตลาด Chicago Board of Trade พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหนือระดับ 84 เซนต์/ปอนด์ ขานรับข่าวการแบนส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ราคาสัญญาน้ำมันถั่วเหลืองยังได้แรงหนุนจากภาวะแห้งแล้งในอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งการลดลงของปริมาณน้ำมันเมล็ดทานตะวัน อันเนื่องจากการทำสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ข่าวระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีมานี้ ราคาสัญญาน้ำมันถั่วเหลืองของสหรัฐได้พุ่งขึ้นมาเกือบ 50% แล้ว

 

ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกในอังกฤษจำกัดการซื้อของลูกค้า

สื่อต่างประเทศยังระบุด้วยว่า อุปทานน้ำมันปรุงอาหารที่เริ่มมีแนวโน้มตึงตัวในตลาด ทำให้ห้างเทสโก้ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ประกาศจำกัดการซื้อน้ำมันพืชของลูกค้า ท่ามกลางภาวะขาดแคลนน้ำมันเมล็ดทานตะวัน หลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

 

ทั้งนี้ เทสโก้กำหนดให้ลูกค้าสามารถซื้อน้ำมันพืชได้ไม่เกินคนละ 3 ขวด ขณะที่ห้างมอร์ริสันและเวทโรสจำกัดให้ลูกค้าซื้อได้ไม่เกินคนละ 2 ขวด

 

ทั้งนี้ ยูเครนเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันทานตะวันมากที่สุดให้แก่อังกฤษ และการทำสงครามกับรัสเซียก็ได้ทำให้การส่งออกหยุดชะงักลง ทำให้บริษัทผู้นำเข้า ต้องหาน้ำมันพืชอื่น ๆ มาทดแทน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรุงอาหารในอังกฤษพุ่งขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว