สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ผลผลิตปาล์มนํ้ามันปี 2567 อยู่ที่ 18.12 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 2.84 ตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มีผลผลิต 18.27 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 2.92 ตัน หรือลดลงร้อยละ 0.82 และร้อยละ 2.74 ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงปลายปี 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 ต้นปาล์มนํ้ามันได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง และในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงต้นปี 2567 สภาวะเอลนีโญมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ปริมาณนํ้าฝนไม่เพียงพอ ต้นปาล์มนํ้ามันไม่สมบูรณ์การออกทะลายที่จะเก็บในปี 2567 ลดลง
อย่างไรก็ตามผลผลิตปาล์มนํ้ามันปีนี้จะออกสู่ตลาดมากที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน คิดเป็นร้อยละ 38 ของผลผลิตทั้งหมด ขณะที่ระดับราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากกิโลกรัม (กก.) ละ 5.45 บาท ในเดือนมีนาคม เหลือ กก.ละ 3.88 บาท ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นราคาตํ่ากว่า 4 บาท ในรอบ 3 ปี ล่าสุดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ใช้กฎหมายบังคับให้ราคารับซื้อผลปาล์มนํ้ามันหน้าโรงงานไม่ตํ่ากว่า กก.ละ 4.80 บาท
ขณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(10 มิ.ย. 67) ให้ผู้ค้านํ้ามันตามมาตรา 7 ต้องซื้อไบโอดีเซล (B100) ตามราคาประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาปาล์มตกตํ่า (ไม่ตํ่ากว่าราคากลางที่ประมาณ 35 บาท /กก.) จากที่ผ่านมามีผู้ค้านํ้ามันตามมาตรา 7 รับซื้อ B100 ตํ่ากว่าราคาที่กำหนด ทำให้ประหยัดต้นทุนรวมกันได้กว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี
นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และกรรมการคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากราคา B100 ที่ประกาศโดย สนพ. กระทรวงพลังงานได้มีการคำนวณราคาตามกลไกตลาดอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีผู้ผลิต B100 จำนวนมาก ทำให้มีกำลังการผลิตเหลือจำนวนมาก เกิดการแข่งขันในตลาดสูง และให้ส่วนลดราคาแก่ผู้ค้านํ้ามันมาตรา 7
“ในความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องการกดราคา แต่เป็นสภาวะตลาด เพียงแต่ว่าก็มีเหตุผลทำให้ผู้ผลิตนํ้ามันไบโอดีเซล ต้องพยายามซื้อวัตถุดิบให้ถูกที่สุด ไม่เช่นนั้นแข่งขันไม่ได้ จึงเป็นที่มาของรัฐบาลได้กำหนดนโยบายในหลายเรื่องคราวเดียวกันที่จะช่วยประคองให้เกิดความสมดุลมากขึ้น”
นอกจากนี้ในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน หรือกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มสัดส่วนบี100 ในนํ้ามันดีเซล จากกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงเวลานี้ติดลบถึง 1.11 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ 2 มิ.ย.67) และแนะนำให้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมปลายนํ้าอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษา อาทิ นํ้ามันหล่อลื่น, ชีวภาพจากนํ้ามันปาล์ม และนํ้ามันหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น แต่ทั้งนี้มีความยากอยู่ 2-3 เรื่อง คือ 1.อุตสาหกรรมข้างต้น มีเป้าหมายเพื่อการส่งออกด้วย หมายความว่าต้นทุนวัตถุดิบต้องแข่งขันได้ แต่ที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบในประเทศมีความผันผวน บางช่วงราคาสูง ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ จะทำให้อุตสาหกรรมข้างต้นค่อนข้างเกิดยาก แต่ก็มีความพยายามที่จะผลักดัน
ส่วนที่ 2 เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือไบโอดีเซลที่ในแต่ละปีมีการใช้หลายล้านตัน การที่จะนำอุตสาหกรรมอะไรมารองรับ หรือทดแทนกับปริมาณปาล์มนํ้ามันที่เกษตรกรที่ผลิตได้ยากมาก และ 3.การใช้ไบโอดีเซลทั่วโลก ตรงกับข้ามกับประเทศไทย คือมีการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี และเพิ่มขึ้นทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เกาหลีใต้ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้ในหลายประเทศประกาศว่า ต่อให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ก็จะเพิ่มสัดส่วนการใช้นํ้ามันไบโอดีเซลไปเรื่อย ๆ เช่น อินโดนีเซียจาก B35 เป็น B40 เป็นต้น
“ประเทศเหล่านี้ไม่ได้มองแค่ราคาต้นทุนพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ที่เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกลงได้ถึง 78.5% เทียบกับการใช้ไบโอดีเซล คิดเป็นมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท (อ้างอิงปี 2555) ซึ่งตัวนี้ประเทศต่างๆ ก็คิดว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยได้ในการลดภาษีให้กับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะในระยะยาวจะมีเรื่องการเก็บภาษีคาร์บอน ในส่วนนี้จะเป็นตัวช่วยภาคอุตสาหกรรมการผลิตด้วย ซึ่งเกษตรกร รัฐและเอกชน ต้องร่วมมือกัน เราถือว่าโชคดีและหลายประเทศอิจฉา เพราะมีวัตถุดิบปาล์มที่ปลูกได้เองในประเทศ และเป็นโอกาสที่จะลดคาร์บอนได้ดีกว่าประเทศอื่น” นายศาณินทร์ กล่าว