"ภูมิธรรม” ประสานทุกหน่วยงานจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม 9 พันให้เสร็จ 31 ต.ค.

09 ต.ค. 2567 | 04:42 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2567 | 04:42 น.

“ธิติวัฐ” เผย “ภูมิธรรม” ประสานทุกหน่วยงานเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง จ่ายเงินเยียวยาภัยพิบัติ ตามระเบียบใหม่ ในอัตราครัวเรือน 9,000 บาท ให้แล้วเสร็จใน 31 ต.ค.

 วันนี้ (9 ต.ค. 2567) นายธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามประเมินสภาพอากาศ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงประสบอุทกภัยและดินโคลนถล่มเพิ่มเติม และสำรวจข้อมูลความเสียหาย ทั้งต่อบ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหาย พร้อมเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังและดินโคลนถล่มอย่างต่อเนื่อง โดยระดมเครื่องมือเครื่องจักรเข้าดำเนินการอย่างเร่งด่วน

\"ภูมิธรรม” ประสานทุกหน่วยงานจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม 9 พันให้เสร็จ 31 ต.ค.

ในการนี้ ทาง ศปช. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน (ศปช. ส่วนหน้า) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมอบหมาย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะทำงาน ในการอำนวยการ วางแผน ติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ประสบภัย พร้อมกันนี้ได้สั่งการเร่งให้ความช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน โดยได้เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม ในอัตราครัวเรือน 9,000 บาท

\"ภูมิธรรม” ประสานทุกหน่วยงานจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม 9 พันให้เสร็จ 31 ต.ค.

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม นำไปซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย และกำชับหน่วยงานให้ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้แล้วเสร็จภายใน 31 ตุลาคม 2567

นอกจากนี้ยังมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวดังนี้

1.มอบหมายกระทรวงกลาโหมเจรจาและพิจารณาขุดลอกลำน้ำสายและสร้างกำแพงป้องกันน้ำในบริเวณพื้นที่

2.มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำรวจพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม โดยเร่งปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำ

3.พิจารณาศึกษาแนวทางกรณีมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง

4.มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เร่งช่วยเหลือและสำรวจพื้นที่ความเสียหาย และจะได้จัดทำแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป เช่น ขุดลอกลำน้ำปิง ปรับปรุงสะพานเดิมที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ

\"ภูมิธรรม” ประสานทุกหน่วยงานจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม 9 พันให้เสร็จ 31 ต.ค.

 

5. มอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว เช่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ

6. มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ

7. มอบหมายกระทรวงคมนาคม พิจารณาจุดที่มีสะพานข้ามแม่น้ำทุกจุดที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ

8. มอบหมายคณะทำงาน ศปช. ติดตามสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกคั้นกันน้ำในจังหวัดชัยนาท อยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ที่ขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน

9. มอบหมายกรมทรัพยากรธรณีประสานกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทตรวจสอบถนนที่มีความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสดินสไลด์ ให้แจ้งเตือนหรือหาวิธีปรับปรุง