รองโฆษกฯ สทนช.อัปเดตสัปดาห์นี้ มวลน้ำเหนือสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลง

09 ต.ค. 2567 | 04:11 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2567 | 04:11 น.

รองโฆษกฯ สทนช.อัปเดตสถานการณ์ สัปดาห์นี้มวลน้ำเหนือสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลง ห่วงน้ำทะเลหนุน 13-24 ต.ค. เตือน 7 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชน

รองโฆษกฯ สทนช.อัปเดตสัปดาห์นี้ มวลน้ำเหนือสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลง

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปริมาณน้ำกำลังไหลเคลื่อนผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ในเกณฑ์ 2,200 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวินาที ไม่เกินจากนี้ถือเป็นมวลน้ำสูงสุดแล้ว และมวลน้ำที่มาจากแม่น้ำปิง หรือลำน้ำน่านอยู่ในระดับทรงตัวและลดลง ส่วนแม่น้ำสะแกกรัง ในขณะนี้ยังไม่มีฝนมาเติม จึงทำให้น้ำไม่ไหลมาเติมในเขื่อนเจ้าพระยา เพราะฉะนั้นในเวลานี้จะเป็นการเร่งระบายน้ำจากไปสู่ทุ่งรับน้ำ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็จะไปกระทบกับพื้นที่ริมตลิ่งตั้งแต่จังหวัดชัยนาท ลงมาจนถึงกรุงเทพมหานคร

 

รองโฆษกฯ สทนช.อัปเดตสัปดาห์นี้ มวลน้ำเหนือสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลง

“บริเวณน้ำที่ไหลผ่านในเกณฑ์ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะต้องมีการไปลงพื้นที่ไปดูด้วยว่าสามารถรองรับน้ำได้ รวมถึงได้มีการประชุมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำ ยม น่าน ท้ายเขื่อนทั้งหมด เพื่อที่จะรับทราบบริเวณน้ำที่จะระบายไป โดยจะเร่งระบายน้ำออกไปก็จะเหลือในช่วงสัปดาห์นี้จะเริ่มเห็นผลมีแนวโน้มลดลง”

สำหรับวันนี้ (9 ต.ค. 67) ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงสูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันตก : จ.ราชบุรี (102 มม.)  ภาคใต้ : จ.ตรัง (83 มม.) ภาคเหนือ : จ.แม่ฮ่องสอน (77 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (74 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ศรีสะเกษ (70 มม.) ภาคตะวันออก : จ.สระแก้ว (65 มม.)

โดยประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีกำลังอ่อนตัวลง ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง

      รองโฆษกฯ สทนช.อัปเดตสัปดาห์นี้ มวลน้ำเหนือสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลง

ส่วนคาดการณ์ช่วงวันที่ 10 - 14 ต.ค. 67 ความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และอ่าวไทย รวมทั้งร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่งผลให้สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 78% ของความจุเก็บกัก (62,728 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 66% (38,538 ล้าน ลบ.ม.) 

อย่างไรก็ดีทาง สทนช. ได้มีการประกาศ เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 13 – 24 ตุลาคม 2567 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลลงมาสมทบส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม