นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง นโยบายและแผนงานในภาพรวมของการกำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ ช่วง 3 ปีที่เหลือของอายุรัฐบาลชุดปัจจุบัน ว่า จะเน้นใน 2 เรื่องสำคัญ
เรื่องแรก คือ เกษตรมูลค่าสูง โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรผลิตสินค้าคุณภาพ และให้ได้ราคาที่สูงขึ้น จะไม่เน้นในเรื่องปริมาณเพียงอย่างเดียว
“การเกษตรจากนี้ไปไม่อยากทำเรื่องปริมาณอย่างเดียว เราอยากจะได้เรื่องคุณภาพ เรื่องราคาที่สูงขึ้น และท้ายที่สุดราคาที่สูงขึ้นต้องไปสู่พี่น้องประชาชน ไปสู่เกษตรกร ไม่ใช่ราคาที่สูงขึ้นตกอยู่กับพ่อค้าคนกลางหรือผู้ส่งออกเท่านั้น ตรงนี้คือเป้าหมายสำคัญที่อยากจะแก้ไขและผลักดัน"
ทั้งนี้มีรายละเอียดอีกมากที่ต้องมาคุยกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะแก้อย่างไรได้บ้าง เพราะต่อให้เกษตรกรเพิ่มคุณภาพ ผลิตสินค้าเกษตรพันธุ์ดี ๆ แล้ว แต่ยังถูกกดราคาและกำไรไปอยู่กับพ่อค้าคนกลางก็ไม่เกิดประโยชน์ เรื่องเกษตรมูลค่าสูง เป็นเรื่องแรกที่ตั้งใจจะทำ
เรื่องที่สอง คือเรื่องเกษตรยั่งยืน และเป็นไปตามเทรนด์ของโลก ทั้งในส่วนของเกษตรกร และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มุ่งเน้นตามแนวทาง BCG Model คือ Bio (เศรษฐกิจชีวภาพ) Circular (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green (เศรษฐกิจสีเขียว) และต้องปฏิบัติตามกฎหมายสากล ที่เวลานี้ประเทศคู่ค้าหลักได้เพิ่มเงื่อนไขทางการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเข้มงวดในเรื่องสินค้าที่จะส่งไปจำหน่ายต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายป่า ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หากเป็นภาคประมงก็ต้องไม่ทำลายทรัพยากรในท้องทะเล
“ตัวอย่างในเวลานี้มีกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR ของสหภาพยุโรป (อียู) ครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า คือ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และไม้ รวมถึงไม่ใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย ที่เราต้องปฏิบัติตาม ซึ่งใน 7 กลุ่มสินค้านี้ เราดูโครงสร้างของเม็ดเงินที่ได้จากการส่งออกไปยังอียูแล้วส่วนใหญ่เป็นยางพารา”
ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจะมุ่งเน้นไปที่ยางพาราก่อน ซึ่งเวลานี้จากการติดตามความคืบหน้าล่าสุด มีเกษตรกรได้ลงทะเบียนผู้ปลูกยางไปแล้วประมาณ 14 ล้านไร่เศษ จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 19 ล้านไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% คิดเป็นปริมาณยางพาราประมาณ 3.5 ล้านตัน ที่มั่นใจได้ว่าสามารถทำได้ตาม EUDR ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการส่งออก
ขณะเดียวกันจะสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ในการส่งออกยาง EUDR ไปตลาดอียู เนื่องจากเทียบศักยภาพกับประเทศคู่แข่งขันด้านยางพารา เช่น อินโดนีเซีย โกตดิวัวร์(ไอวอรีโคสต์) แล้วยังทำเรื่อง EUDR ได้ไม่เท่าไทย
ดังนั้นในอนาคตไทยน่าจะเป็นผู้กำหนดราคาอย่าง EUDR ในตลาดโลกได้ เพราะผู้ผลิตหรือแปรรูปยางพาราไม่ว่าจะเป็นถุงมือยาง ยางรถยนต์ ยางแปรรูปทั้งหลาย ต้องใช้วัตถุดิบที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายของ EUDR ที่ต้องสั่งจากประเทศไทย
“ตรงนี้จะเป็นโอกาสสำหรับพี่น้องผู้ปลูกยางที่ราคายางจะสูงขึ้นแน่นอน ปีนี้อาจจะได้เห็น 100 บาทต่อกิโลกรัม เพราะราคายางวันนี้ใกล้แตะ 90 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ก็น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับพี่น้องเกษตรกร”
อย่างไรก็ดี แม้เวลานี้เงินบาทที่แข็งค่าจะกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทย ได้รับรายได้และกำไรในรูปเงินบาทลดลง ในเรื่องนี้ผู้ส่งออกก็จะต้องมีการวางแผนป้องกันความเสี่ยง ในการทำ Hedging เพื่อป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ซึ่งในเรื่องการกำกับดูเสถียรภาพค่าเงินบาทนี้เป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนในเรื่องนโยบายทางการคลังเป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯที่ดูแลเกษตรกรหวังว่าทั้งสองหน่วยงานคงได้คุยกันและได้ข้อสรุปแล้ว
นางนฤมล กล่าวอีกว่า จากที่ในปีนี้ประเทศไทยได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ส่วนในปีหน้านักวิชาการออกมาเตือนว่าไทยจะเจอภัยแล้ง ดังนั้นทางกระทรวงเกษตรฯได้มุ่งบริหารจัดการน้ำที่มีปริมาณมากในปีนี้เพื่อกักเก็บเอาไว้ใช้ให้มากที่สุดในปีหน้า
“เราพยายามที่จะเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดในเขื่อนต่าง ๆ อย่างช่วงที่น้ำท่วมหนัก ๆ ทางภาคเหนือที่มีพายุเข้าไทย เขื่อนหลายแห่งเช่น เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนกิ่วลม(จ.ลำปาง)มีน้ำเกิน 100% และต้องระบาย เหลืออยู่ประมาณ 80% ของความจุ ทำให้มีพื้นที่รอกักเก็บน้ำเพิ่มได้อีก ซึ่งภัยแล้งคงคลายกังวลได้ในระดับหนึ่ง แต่ดูจากปริมาณน้ำในเขื่อนในภาพรวมทั่วประเทศแล้วน่าจะมีเพียงพอใช้ในปีหน้า" นางนฤมล กล่าว