ส่องอนาคต 30 ปี อานิสงส์ EUDR ดันไทยผงาดกุมราคายางโลก

05 ก.ย. 2567 | 23:00 น.

“ไชยยศ สินเจริญกุล” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย โชว์วิสัยทัศน์ส่องอนาคต 30 ปี อานิสงส์ EUDR ดันไทยผงาดกุมราคายางโลก

“ยางพารา” เป็นหนึ่งในผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญของโลก รวมถึงประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา รวมระยะเวลา 33 ปี ไทยผงาดเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก ข้อมูลล่าสุดปี 2566 ไทยมีเนื้อที่กรีดยาง 22 ล้านไร่ ผลิตยางทั้งสิ้น 4.7 ล้านตัน ส่งออก 4.46 ล้านต้น มูลค่า 1.25 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดีช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคายางในตลาดโลกมีความผันผวน ผลพวงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศคู่ค้า และผลพวงจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่เป็น 2 คู่ค้าสำคัญของไทย

นอกจากนี้ปัจจัยในประเทศยังได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง นํ้าท่วม และโรคใบร่วง ขณะที่ล่าสุดการส่งออกสินค้าเกษตรไทยภายใต้กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation) ของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ในมุมผู้ประกอบการยางพารามองเป็นปัจจัยบวก-ลบอย่างไร และไทยมีความพร้อมแค่ไหน “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ไชยยศ สินเจริญกุล” นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย เพื่อฉายภาพให้เห็นชัด ๆ

“อียูดีอาร์”อนาคตใช้ทั่วโลก

 

ส่องอนาคต 30 ปี อานิสงส์ EUDR ดันไทยผงาดกุมราคายางโลก

นายไชยยศ กล่าวว่า “EUDR” เป็นกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ค้าขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยกำหนดให้สินค้าที่เข้าและออกจากสหภาพยุโรป ต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก 7 สินค้า (วัว โกโก้ กาแฟ ปาล์มนํ้ามัน ถั่วเหลือง ไม้และยางพารา) ต้องไม่ได้ผลิตบนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า, ต้องมาจากกระบวนการผลิตที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายต่าง ๆ ของประเทศผู้ผลิต เช่น กฎหมายที่ดินแรงงานสิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อมป่าไม้และภาษี และต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินค่าตามขั้นตอนที่สหภาพยุโรปกำหนด โดยผู้ประกอบการต้องส่งรายงานการตรวจสอบก่อนจะนำเข้าหรือส่งออกสินค้าตามกฎหมายนี้

 

 

ส่องอนาคต 30 ปี อานิสงส์ EUDR ดันไทยผงาดกุมราคายางโลก

 

“ในฐานะที่ไทยดูแลผลผลิตยางพาราเพื่อเข้าสู่ตลาดอียู รวมทั้งประเทศคู่ค้าที่จะใช้วัตถุดิบเข้าตลาดอียูในเรื่องนี้การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้านานแล้ว กฎหมายนี้ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรค ส่วนหนึ่งเพราะไทยมีองค์กรที่ดูแลยางพาราที่ชัดเจน มีการจัดเก็บข้อมูล ขึ้นทะเบียนเกษตรกรอย่างเป็นระบบ จึงสามารถแยกแยะพื้นที่ยางพาราที่ถูกและไม่ถูกกฎหมายออกจากกันได้ ปัจจุบันมีพื้นที่ถูกต้อง อยู่ 22 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ 90% ได้จัดเก็บพิกัดสวนยางไว้แล้วเพื่อนำมาเชื่อมโยงกับทะเบียนเกษตรกร กำหนดเลขทะเบียนและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ทั้งในตลาดกลางซื้อขายยางพารา หรือ TRT (Thai Rubber Trade) ของ กยท.เอง สหกรณ์ และสุดท้ายคือผู้ประกอบการที่รับซื้อ เพราะต่อไปมาตรฐานอียูดีอาร์ จะเป็นแม่พิมพ์ของกฎกติกาที่ทั่วโลกจะต้องนำไปใช้ ซึ่งเราไม่ทิ้งโอกาส เทรนด์นี้มาแน่นอน ถอยไม่ได้”

 

เร่งแปลง EUDR ดันส่งออก 5 ล้านตัน

 นายไชยยศ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขอร้องให้ทางอียูยืดเวลาการบังคับใช้ EUDR ออกไป แต่ฝั่งอียูยังไม่ตอบรับ ผลพวงยิ่งทำให้วัตถุดิบยางพาราอียูดีอาร์ราคาปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าจะสูงขึ้นต่อเนื่องไปอย่างน้อย 2 ปี เนื่องจากความต้องการมีสูงมาก ขณะข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับจะต้องใช้เวลา เชื่อว่าอนาคตมาตรฐานนี้จะใช้ทั่วโลก ซึ่งหากประเทศใดมีมาตรฐานอียูดีอาร์ สินค้าก็สามารถนำเข้าประเทศได้เลย ปัจจุบันไทยเองเริ่มต้นไม่กี่แสนตัน จากผลผลิตในประเทศเกือบ 5 ล้านตันต่อปี ทำให้มีโอกาสอีกมาก

“ขณะนี้ก็มีคำสั่งซื้อยางอียูดีอาร์จากต่างประเทศเข้ามาเรื่อยๆ ตลาดยางพาราก็ตื่นตัวกันหมด เพราะสินค้าที่ใช้ยางพาราไม่ใช่แค่อียูตลาดเดียว ในอนาคตเชื่อว่าจะใช้มาตรฐานนี้ทั่วโลก ในส่วนของภาคเอกชนก็ต้องปรับตัวในการขายยาง ตลาดทั่วไปกับยางอียูดีอาร์ก็ต้องแยกกัน เพราะถ้ามีเอกสารหรือข้อมูลยังไม่ครบถ้วนตามกฎเกณฑ์เงื่อนไขของอียู ก็ขายเป็นตลาดยางปกติ (Non-EUDR) ให้กับตลาดอื่นที่ยังไม่ประกาศ”

 

ผงาดกุมราคายางโลก

อย่างไรก็ดีไทยมีความได้เปรียบ เพราะมี กยท. ทำหน้าที่บริหารยางพาราทั้งระบบ ตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่เกษตรกร จนถึงส่งออก ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจที่สามารถดูแลยางทุกต้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมก็ต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับโลกร้อน ต่อไปในอนาคตหากประเทศไทยกำหนดผลิตภัณฑ์เป็นฉลากหรือสัญลักษณ์อียูดีอาร์ประเทศไทยได้ จะทำให้ประเทศคู่ค้าทั่วโลกเกิดความมั่นใจ และจะเป็นแรงส่งตราสัญลักษณ์ให้มีการประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก ว่าไทยเป็นที่ 1ของโลกด้านยางพารา

“ไทยต้องฉวยโอกาสประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับยางพาราไทยที่มีมาตรฐานเป็นผู้นำโลก เชื่อว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า คู่แข่งด้านยางพาราของไทย ไม่ว่าไอวอรีโคสต์ ประเทศผู้ผลิตยางที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา จะสามารถตรวจย้อนกลับได้ประมาณ 1 ล้านตัน และกว่าจะมีผลผลิตถึง 5 ล้านตัน ต้องใช้เวลาหลายปี แต่ของประเทศไทยมีศักยภาพผลผลิตร่วม 5 ล้านตัน เพียงทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด สามารถมองอนาคตยางพาราไปอีก 30 ปี แบบไม่มีคู่แข่ง และสามารถขายได้สูงกว่าราคายางทั่วไปไม่ตํ่ากว่า 4-5 บาทต่อกิโลกรัม โลกต้องหันกลับมาชื่นชมประเทศไทยว่าได้มีส่วนช่วยรักษ์โลก และสิ่งแวดล้อมจะมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้กำหนดราคายางโลกอย่างแน่นอน” นายไชยยศกล่าว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,024 วันที่ 5 - 7 กันยายน พ.ศ. 2567