นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง การชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งล่าสุดว่า แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือการเยียวยาสำหรับเกษตรกรที่ได้รับความสูญเสีย ตรงนี้จะเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ในเรื่องวิธีการเบิกจ่ายของสำนักงบประมาณ ซึ่งงบจะไปอยู่กับจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ประเมินความเสียหายว่า เป็นพืช ปศุสัตว์ ประมงประเภทใด ซึ่งมีระเบียบในการเยียวยาไว้แล้ว
“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทยเร่งกระบวนการชดเชยเยียวยา โดยกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะผู้ที่ต้องทำการประเมินความเสียหายจะต้องสำรวจและส่งข้อมูลให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทางกระทรวงมหาดไทยได้ไปพิจารณาเร่งขบวนการซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของการเยียวยา”
ส่วนที่สอง หลังจากที่จ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว จะต้องฟื้นฟูอย่างไรเป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้ประเมินความเสียหายและวางงบประมาณที่จะต้องใช้ในการฟื้นฟูทั้งหมด ตรงนี้ได้ของบกลางประมาณ 3,700 ล้านบาท มาใช้เพื่อดำเนินการ ซึ่งได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงบประมาณแล้ว ซึ่งเดิมจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ทางสำนักงบประมาณได้ขอให้พ้นวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เพื่อใช้งบของปี 2568 ที่ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ดังนั้นจึงคาดว่าน่าจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติได้ในสัปดาห์หน้า
“ทั้งนี้งบกลาง 3,700 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ในส่วนที่สองคือการฟื้นฟู ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของข้าว เช่น การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อแจกจ่าย และอื่น ๆ รวมประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท ที่เหลือจะเป็นพืชไร่ พืชสวนอื่น ๆ รวมทั้งช่วยเหลือภาคปศุสัตว์และประมงที่ได้รับความเสียหาย”
อย่างไรก็ดีกระทรวงเกษตรฯได้หารือกัน เนื่องจากมีข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่ว่า กว่าน้ำจะลด กว่าจะได้งบประมาณมา และของจะไปถึง บางพื้นที่อาจจะไม่พร้อมหรือพื้นที่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูกแล้ว เพราะฤดูกาลเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งกำลังหารือกับสำนักงบประมาณ โดยวันนี้ (4 ต.ค. 2567) ตนได้หารือกับปลัดกระทรวงเกษตรกรฯ และให้ติดตามเรื่องที่สำนักงบประมาณตามที่ได้เสนอไปว่า ในบางพื้นที่ ในบางจุด ในบางงบฯ จะขอเปลี่ยนแปลงเป็นการฟื้นฟูด้วยเม็ดเงินเพิ่มเติมให้เกษตรกรได้หรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำตอบ จากตามระเบียบเดิมจะต้องให้เป็นของที่แจกเพื่อไปฟื้นฟูให้มีอาชีพต่อเนื่องหลังน้ำลด
“พืชผลที่เสียหายมากที่สุดจากน้ำท่วมครั้งล่าสุด เบื้องต้นเป็นนาข้าวประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งหากยังมีผลกระทบจากน้ำท่วมตามมาอีกก็จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม แต่ ณ ขณะนี้ ตัวเลขงบประมาณที่นิ่ง ๆ ที่รอของบกลางเพื่อฟื้นฟูอยู่ประมาณ 3,700 ล้านบาท”