จึงพูดกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องคิดถึงนวัตกรรมอะไรมาช่วยป้องกันการเกิดน้ำท่วมในระยะยาว และ “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ” เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถช่วยลดโอกาสและป้องกันน้ำท่วมได้
ทั้งนี้ “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ” ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ป้องกันน้ำท่วมโดยตรง แต่หากเป็นกลไกที่สามารถลดหรือหยุดยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายการเพาะปลูก ช่วยรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่บนดอยสูงไว้ทำหน้าที่ดูดซับปริมาณน้ำและชะลอความเร็วของน้ำป่าก่อนที่จะไหลทะลักลง จนเกิดเป็นน้ำท่วมใหญ่เหมือนเหตุการณ์ในครั้งนี้
ปัจจุบัน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนดอยลดลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการทางการค้าระดับโลกที่กีดกันสินค้าที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับการบุกรุกพื้นที่ป่า และในอนาคตอันใกล้ที่ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชนจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะมีการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ มาใช้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น เพราะระบบตรวจสอบย้อนกลับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยยืนยันว่าข้าวโพดหรือพืชปลูกบนพื้นที่ไม่รุกป่าถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะเดียวกันยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับห่วงโซ่การผลิตอาหารที่เชื่อมโยงกับและเป็นแนวทางที่ช่วยควบคุมและกำกับดูแลหยุดการขยายพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกได้จริง อย่างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง คือ ซีพี ที่ลุกขึ้นพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ ปี 2559 เพื่อแสดงความชัดเจนไม่รับซื้อข้าวโพดที่ปลูกบนดอยหัวโล้น
ระบบตรวจสอบย้อนกลับทำให้เราทราบว่าข้าวโพดไม่ได้มาจากพื้นที่ไม่ถูกต้อง โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี GPS และเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ช่วยระบุพิกัดแปลงปลูกข้าวโพดของเกษตรกร รวมถึงนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้บันทึกข้อมูลในระบบตรวจสอบย้อนกลับ ตั้งแต่รายชื่อเกษตรกร พิกัดแปลงปลูก จนถึงผู้รวบรวมหรือลานรับซื้อ ติดตามผลผลิตตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงโรงงานอาหารสัตว์ เทคโนโลยีบล็อกเชนมีความปลอดภัยสูงและปลอมแปลงยาก สร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของกระบวนการจัดหาข้าวโพดในประเทศไทยทั้งหมด
นอกจากนี้ ระบบตรวจสอบย้อนกลับยังช่วยให้สามารถกำกับดูแลเกษตรกรให้ลดและหยุดพฤติกรรมการเผาหลังเก็บเกี่ยวได้ ผ่านการติดตามข้อมูลจุดความร้อนจากภาพถ่ายดาวเทียมกับข้อมูลแปลงปลูกของเกษตรกร ช่วยให้บริษัทเห็นข้อมูลแบบวันต่อวัน สามารถลงแก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การลดการเผา ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดน ซึ่งซีพียังได้ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับในการจัดหาข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ทั้งเมียนมา สปป.ลาว หรือกัมพูชา เพื่อช่วยจัดการปัญหารุกป่าและฝุ่นควันข้ามแดนในภูมิภาค
การนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้กับสินค้าเกษตร ไม่เพียงแต่ช่วยหยุดยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า หากยังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย เพราะระบบตรวจสอบย้อนกลับเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางบนเวทีการค้าระดับโลก อย่างสหภาพยุโรป ตลาดสำคัญที่นำเข้าสินค้าเนื้อไก่ของไทย กำลังเตรียมบังคับใช้มาตรการ EU Deforestation Regulation: EUDR เพื่อป้องกันสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการผลิตสินค้าทางเกษตรต่อไป
บทความโดย : พิมพ์พร สงวนธรรม นักวิชาการด้านการพัฒนาสินค้าเกษตร