วันที่ 20 ตุลาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสถานการณ์ ฝนตกกรุงเทพฯ เรดาร์ฝน ณ เวลา 14.00 น. ล่าสุด พบกลุ่มฝนเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณเขตลาดกระบัง มีนบุรี สะพานสูง คันนายาว บึงกุ่ม บางกะปิ วังทองหลาง ลาดพร้าว จตุจักร ดอนเมือง สายไหม พระโขนง บางนา นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
ส่วนอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้า จะมีกลุ่มฝนเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เคลื่อนตัวไปตกบริเวณเขตคลองสามวา หนองจอก มีนบุรี บางเขน สายไหม ดอนเมือง หลักสี่ จตุจักร บางซื่อ ดินแดง พญาไท ดุสิต บางพลัด คลองเตย ห้วยขวาง วัฒนา นนทบุรี ปทุมธานี หลังจากนั้นเวลา 14.30 น.-15.00 น. กลุ่มฝนตกเพิ่มบริเวณเขตตลิ่งชัน บางกอกน้อย พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย ราชเทวี ปทุมวัน จอมทอง ธนบุรี บางกอกใหญ่ บางพลัด นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา คาดว่าปกคลุมมากกว่า 1 ชั่วโมง
สำหรับช่วงวันที่ 20 - 22 ต.ค. 67 เป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่าง ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคอีสานล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง
รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุม สปป.ลาวแล้วในวันนี้ (20 ต.ค. 67) ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนในระยะแรกๆ ฝนจะลดลงหลังวันที่ 22 ต.ค.67 และอากาศจะเย็นลง ยอดดอย ยอดภู จะเริ่มมีอากาศเย็นถึงหนาวให้ได้สัมผัส แต่อาจจะยังมีฝนบางแห่งบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก
ช่วง 23 - 29 ต.ค.67 ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง อากาศจะเริ่มเย็นลง ลมทิศเหนือพัดปกคลุม ส่วนบริเวณภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่อง เป็นฝนฟ้าคะนอง ปานกลางถึงหนักบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด
อนึ่ง ในทะเลจีนใต้จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวและอาจจะพัฒนาเป็นพายุหมุนเขตร้อนได้ แต่ทิศทางยังไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในขณะนี้ เนื่องจากยังมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมา จะทำให้มีทิศทางเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
(ข้อมูลนี้ใช้เป็นแนวทางในการติดตามสภาพอากาศ ยังต้องติดตามและอัพเดทสถานการณ์ด้วยข้อมูลจากผลการตรวจอากาศอื่นๆ ร่วมด้วย อาจมีการเปลี่ยนแปลง ตามข้อมูลที่มีการประมวลผลใหม่)