“ปุ๋ยคนละครึ่ง” ส่อล้ม ชาวนาไม่มีเงินสมทบ ชง “จำนำยุ้งฉาง” ป้องราคาข้าวตก

20 ต.ค. 2567 | 06:35 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2567 | 06:35 น.

“ปุ๋ยคนละครึ่ง” ส่อล้ม กมธ.การ พาณิชย์ฯ เผยเสียงสะท้อนชาวนาส่วนใหญ่ไม่ต้องการ จากไม่มีเงินจ่ายสมทบ ประเมินผลกระทบอินเดียคัมแบ็กส่งออกข้าวขาว บาทแข็งค่า ทุบราคาในประเทศ ตกตํ่า สมาคมชาวนาฯ จ่อชง นบข.ดันสินเชื่อจำนำยุ้งฉางข้าว 5 ชนิด หลังช่วยแล้วได้ผลในรัฐบาลที่ผ่านมา

วันที่ 16 ต.ค. 2567 คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายประมวล พงศ์ถาวราเดช เป็นประธาน ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่อุปทานข้าว และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาแนวโน้ม และปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าข้าวของประเทศไทย

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ กรรมาธิการ (กมธ.) คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าผลกระทบจากอินเดียที่กลับมาส่งออกข้าวขาว ทำให้ซัพพลายข้าวในตลาดโลกมีมากขึ้น และค่าเงินบาทที่วันนี้อยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยังถือว่าแข็งค่าอยู่ กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกข้าวไทย รวมถึงไทยมีความหลากหลายทางพันธุ์ข้าวค่อนข้างตํ่า ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง พื้นที่ชลประทานก็มีค่อนข้างน้อย

 

เวลานี้ข้าวไทย “ตกหลุมดำ” จากที่เคยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก โดยจากความต้องการข้าวในตลาดโลกมากกว่า 50 ล้านตันข้าวสารต่อปี ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ยเพียง 6-8 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวขาว 5% แต่ในตลาดมีข้าวหลายชนิดเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค อาทิ ข้าวบาสมาติของอินเดีย, ข้าวพื้นนุ่มต่าง ๆของเวียดนาม เป็นต้น ที่ผ่านมาไทยเน้นที่ปริมาณการส่งออกเป็นหลัก และภาครัฐไม่มียุทธศาสตร์ข้าวที่ชัดเจน

“จากที่ได้คุยกับผู้ส่งออกข้าวในวันนี้ ตอกยํ้าว่าไทยมีตัวเลือกเรื่องข้าวน้อย อาทิ มีข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และข้าวหอมปทุมธานี ทำให้ตลาดมีข้อจำกัด ต่างจากข้าวของเวียดนามที่มีข้าวหลายพันธุ์ หลายเกรด และหลายระดับราคา ให้ลูกค้าเลือกมากกว่าไทย ส่วนสมาคมชาวนาฯ ที่มาเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยป้องกันราคาข้าวตก ก็ควรให้รัฐบาลช่วยไปพลางก่อน”

 

“ปุ๋ยคนละครึ่ง” ส่อล้ม ชาวนาไม่มีเงินสมทบ ชง “จำนำยุ้งฉาง” ป้องราคาข้าวตก

 

พร้อมกันนี้ในคณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติเห็นชอบในการกำหนดพื้นที่โซนนิ่งข้าว และให้มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย โดยทำงานร่วมกับเอกชน ส่วนโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ที่ได้รับการอนุมัติในรัฐบาลชุดที่แล้ว ได้มีการประเมินว่า คงล้มไปโดยปริยาย จากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ต้องการ และไม่มีเงินจ่ายสมทบ และบางรายก็ยังติดหนี้ ธ.ก.ส.อยู่

นายประมวล พงศ์ถาวราเดช

 

สอดคล้องกับนายประมวล พงศ์ถาวราเดช ประธาน กมธ.พาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญาฯ กล่าวว่า ได้ให้กรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. ที่มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย จัดประชุมเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวตกตํ่าโดยเร็วที่สุดเพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงในรายได้และอาชีพ หากในอนาคตอยากจะให้จัดโซนนิ่งข้าว เพื่อลดต้นทุนให้กับชาวนา และมีหลายพันธุ์ข้าว เพื่อให้ผู้ส่งออกไปแข่งขันได้ ก็ได้แจ้งไปกับกรมการข้าวว่า จะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด ส่วนโรงสีอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องสินเชื่อเพื่อเก็บข้าวเข้าสต๊อก

ขณะที่ นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และกรรมการ นบข. กล่าวว่า จากราคาข้าวสารหอมมะลิที่ผู้ส่งออกกำหนด มาแปลงเป็นราคาข้าวเปลือกในการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา เห็นแล้วรู้สึกผิดหวัง เพราะราคาตํ่าเกินไป ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงได้เสนอผ่าน กมธ.ใน 4 มาตรการของรัฐบาลในอดีตที่ช่วยเหลือชาวนาได้ผล และช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโดยไม่ไปยุ่งกับกลไกตลาด อาทิ สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (จำนำยุ้งฉาง) เป้าหมายดูดซับปริมาณข้าวออกจากตลาด 3 ล้านตัน โดยกำหนดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการฯ และวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้

 

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

 

1.ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,000 บาท

2. ข้าวเปลือกหอมมะลิ นอกพื้นที่ ตันละ 15,000 บาท

3.ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 14,000 บาท

4.ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 13,000 บาท

5.ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 14,000 บาท

 

รวมถึงมาตรการอื่นๆ เชื่อว่าจะทำให้ชาวนาพึงพอใจ หากมีประชุมจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม นบข.ทันที

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,037 วันที่ 20-23 ตุลาคม พ.ศ. 2567