อินโดฯ บังคับใช้กฏหมายฮาลาล กลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม แนะเอกชนไทยศึกษา

21 ต.ค. 2567 | 04:55 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2567 | 07:48 น.

สนง.ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุง จาการ์ตา รายงานว่า อินโดนิเซีย ได้บังคับใช้กฎหมายเครื่องหมายฮาลาล บังคับใช้กลุ่มแรกธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แนะผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายธุรกิจศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบมาตรฐานอย่างเคร่งครัดก่อนขยายธุรกิจ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ อินโดนีเซีย ได้มีการบังคับใช้กฎหมายเคื่องหมายฮาลาลสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2024 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายฉบับที่ 33 ปี 2014 ว่าด้วยการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎหมายฉบับที่ 6 ปี 2023 และรัฐบาล กฎข้อบังคับฉบับที่ 39 ปี 2021 ว่าด้วยการดำเนินการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ F&B ทั้งหมดที่จำหน่ายและจัดจำหน่ายในอินโดนีเซีย ยกเว้นที่มาจากวัตถุดิบที่ต้องห้าม ภายใต้ศาสนาอิสลาม (ฮาราม) จะต้องได้รับการรับรองฮาลาล โดยหน่วยงานรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลของอินโดนีเซีย (Badan Penyelenggara Jaminan Produk Halal หรือ “BPJPH” ) ซึ่งรวมถึงวัตถุดิบ วัตถุเจือปน อาหารและวัตถุดิบเสริมที่ใช้ในการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนโรงเชือด และสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง 

ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากหรือทำด้วยส่วนผสมที่ไม่ใช่ฮาลาล จะต้องแสดงฉลาก Non Halal บนบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน โดยป้ายนี้อาจอยู่ในรูปแบบของรูปภาพ ป้าย หรือประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าการรับรองฮาลาลภาคบังคับนี้ยังใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตนอกอินโดนีเซียแต่นำเข้าจำหน่ายภายในอินโดนีเซียด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์นำเข้า ใบรับรองฮาลาลที่ออกโดยหน่วยงานฮาลาลต่างประเทศ จะได้รับการยอมรับในอินโดนีเซียก็ต่อเมื่อหน่วยงานเหล่านั้นได้ทำข้อตกลงการรับรู้ร่วมกัน (MRA) กับ BPJPH ซึ่งหมายความว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการรับรองฮาลาลที่เป็นที่ยอมรับจะต้องจดทะเบียนกับ BPJPH เท่านั้น โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการรับรองในอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม หาก BPJPH ยังไม่ยอมรับหน่วยงานฮาลาลต่างประเทศที่ไม่มี MRA ระหว่างกัน ผลิตภัณฑ์ จะต้องผ่านกระบวนการรับรองฮาลาลของอินโดนีเซีย แม้ว่าจะได้รับการรับรองฮาลาลในต่างประเทศของประเทศนั้นๆ แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ เมื่อการรับรองฮาลาลภาคบังคับมีผลบังคับใช้แล้ว ธุรกิจต่างๆ ในภาคอาหารและเครื่องดื่ม จะต้องปฏิบัติตามทันที หน่วยงาน BPJPH ได้เพิ่มความพยายามในการบังคับใช้โดยการแต่งตั้งบุคลากร กำกับดูแลการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล (SDM Pengawas Jaminan Produk Halal) ทั่วภูมิภาคต่างๆ ในอินโดนีเซีย 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กฎระเบียบบังคับใช้สินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายในอินโดนีเซียเริ่มบังคับใช้ระยะแรกกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มก่อนเป็นอันดับแรก ภายใต้พระราชบัญญัติการรับรองผลิตภัณฑ์ ฮาลาล (Indonesia Law No 33/2014) โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าเพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฮาลาลระดับโลก มีการเร่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล เร่งรัดการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลภายในในประเทศ และการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการจดทะเบียนใบรับรองฮาลาลจากต่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ตลาดมีความสำคัญและมีศักยภาพ สินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยที่ได้รับตราฮาลาลอินโดนีเซีย ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว สาหร่ายอบกรอบ เครื่องดื่มชา เครื่องปรุงรส เป็นต้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายธุรกิจมายังอินโดนีเซียจึงควรปฏิบัติตามกฎระเบียบมาตรฐานของอินโดนีเซียเพื่อสามารถวางจำหน่ายในอินโดนีเซียและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย