สินค้าปศุสัตว์ลุ้นปี 67 ส่งออกพุ่ง 3 แสนล้าน ปีแรก คู่ค้าเชื่อมั่นมาตรฐาน

23 ต.ค. 2567 | 22:00 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ โชว์ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ 8 เดือน เผยมีลุ้น ปี 67 ส่งออกพุ่ง 3 แสนล้านปีแรก คู่ค้าเชื่อมั่นมาตรฐาน

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงยุคโลกาภิวัตน์ และมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่ออุบัติใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโรคโควิด โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคอีโบลา และเชื้อโรคดื้อยาอื่นๆ ได้ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะกำกับดูแลภาคปศุสัตว์ของประเทศ ระบุการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทย ในแต่ละปีที่ผ่านมา ยังสามารถทำรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยในปีนี้ และในปีหน้า (2568) ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง

 

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์

ปี 67 คาดแตะ 3 แสนล้าน ปีแรก

นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวว่า การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทย ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการส่งออกแล้วคิดเป็นมูลค่ารวม 213,997 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15 คาดถึงสิ้นปีนี้ การส่งออกจะมีมูลค่ามากกว่า 3 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

การส่งออกสินค้าปศุสัตว์นับจากนี้ คาดจะยังขยายตัวต่อเนื่อง มีส่วนสำคัญจากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีนโยบายในการยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัยตามหลักสากลและเป็นไปตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า พร้อมทั้งมีการเจรจาเพื่อเปิดตลาดใหม่ให้สินค้าเกษตรไทยอย่างต่อเนื่อง

 

 

สำหรับสินค้าปศุสัตว์ส่งออกมากที่สุด ช่วง 8 เดือนแรกปี 2567 คือ กลุ่มเนื้อสัตว์แช่แข็งมีมูลค่าส่งออก 107,161 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.54 (8 เดือนแรกปี 2566 ส่งออก 98,724 ล้านบาท) โดยสินค้าเนื้อสัตว์แช่แข็ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ50 ของการส่งออกในภาพรวม โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ปีกซึ่งมีปริมาณความต้องการบริโภคสูงอย่างต่อเนื่องของตลาดสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

 

สินค้าปศุสัตว์ลุ้นปี 67 ส่งออกพุ่ง 3 แสนล้าน ปีแรก คู่ค้าเชื่อมั่นมาตรฐาน

 

อาหารสัตว์เลี้ยงโตไม่หยุด

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกรองลงมา ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง มีมูลค่าส่งออก 69,969 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.69 ของการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในภาพรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.67 (8 เดือนแรกปี 2566 ส่งออก 52,737 ล้านบาท) โดยสินค้าในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงที่เป็นที่ต้องการของตลาดประกอบด้วย อาหารกระป๋องสุนัขและแมว Pet Treats อาหารขบเคี้ยวสำหรับสุนัขและแมว อาหารเสริมสัตว์เลี้ยง และอาหารเม็ดสุนัขและแมว มีตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร

ส่วนสินค้าในกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ เนื้อสัตว์ แช่เย็น ผลิตภัณฑ์นม ไข่ รังนก นํ้าผึ้ง เนื้อสัตว์บรรจุกระป๋อง สัตว์มีชีวิต ซากสัตว์ และอาหารปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออกใกล้เคียงกับสถิติของปี 2566 และเมื่อพิจารณาข้อมูลภาพระหว่างปี พ.ศ. 2565-2567 พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์และการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของกรมปศุสัตว์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า ทำให้การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยเติบโตต่อเนื่อง

 

นอกจากจะเป็นการนำเงินตราเข้าประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้มีการจ้างงานในภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตสินค้าปศุสัตว์ซึ่งถือเป็นห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่ เกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครื่องจักร แรงงานภาคการเกษตร โรงงานผลิตอาหารปศุสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์ และโรงงานแปรรูป ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย

 

คุมเข้มมาตรฐานคู่ค้าเชื่อมั่น

นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเจรจาเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญ ทั้งเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง เนื้อสัตว์แปรรูป ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่ และอาหารสัตว์เลี้ยงกับประเทศผู้ค้าเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับด้วยดี ซึ่งการที่ประเทศคู่ค้าเชื่อมั่นในสินค้าปศุสัตว์ไทย มีส่วนสำคัญจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการและสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องได้ประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมกันผลักดันการเจรจาเพื่อขยายการส่งออก เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอื่น ๆ

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในการสนับสนุนการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคเกษตรของไทย และในการพัฒนาภาคปศุสัตว์ให้เจริญก้าวหน้า พัฒนาระบบการผลิตและการตลาด ตลอดจนสนับสนุนการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,038 วันที่ 24 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2567